การศึกษาหาความรู้ในปัจจุบันนี้
ถ้าศึกษาแต่เพียงในชั้นเรียนอย่างเดียวก็อาจจะไม่เพียงพอ
แม้ว่าเราได้ศึกษาจากทางสถาบันได้เรียนหนังสือ แต่อีกอย่างที่เราน่าจะมีเพิ่มเติมก็คือการเรียนรู้ชีวิต
การใช้ชีวิต การดำเนินชีวิต รู้จักและทำความเข้าใจในธรรมชาติของชีวิต
ที่เป็นเสมือนบ้านของกายและจิตใจให้ได้มาอาศัยอยู่ร่วมกัน
ในสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติที่เราจะต้องเรียนรู้
และดำรงอยู่ท่ามกลางสัมพันธภาพของทั้งสองอย่าง โดยผ่านกระบวนการในรูปของประสบการณ์
ให้เราได้เก็บเกี่ยวเพื่อนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตและจิตวิญญาณของเรา
และมวลมนุษย์
ในสังคมปัจจุบัน การพัฒนาทางด้านสติปัญญา และการพัฒนาทางด้านจิตใจ
ต้องได้รับการพัฒนาไปอย่างควบคู่กัน เนื่องจากสภาวะของเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
ทำให้เราต้องยอมรับและปรับตัวให้สอดคล้องกับค่านิยมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
แต่จะทำอย่างไรให้เราจะไม่สูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไป
จะทำอย่างไรให้เรามีทั้งอาหารสำหรับร่างกาย อาหารสำหรับสมอง
และโดยเฉพาะอาหารสำหรับจิตใจ ที่สามารถช่วยพัฒนาในด้านอารมณ์และความรู้สึก
ดังนั้น การหาอาหารมาหล่อเลี้ยงจิตใจ ก็นับได้ว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ
ที่จะสามารถทำให้มนุษย์สำรวจและทำความรู้จักกับตนเอง
รู้จักศักยภาพของตัวเอง และเป็นยกระดับจิตใจให้มีความดีงามเพื่อที่จะได้อยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความสงบสุข
และท่ามกลางสภาพของความสับสนวุ่นวาย ในด้านเศรษฐกิจ
สังคม ความเป็นอยู่ และการดำเนินชีวิตของผู้คน การที่ผู้คนต้องแบกรับภาระอันหนักอึ้ง
ในการหาเลี้ยงชีพ การเรียนรู้ ทั้งจากตำราเรียน
และการเรียนรู้ชีวิตให้สามารถดำรงอยู่ได้ ในสภาวะของการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน
ยิ่งเป็นยุคที่วัตถุและเทคโนโลยีต่างได้รับการพัฒนา
ให้ออกมาแข่งขันกันตลอดเวลา ทำให้สังคมมนุษย์ต้องตื่นตัวอยู่เสมอกับความก้าวหน้าที่ไม่อาจจะหยุดยั้ง
ทำให้บางทีเราเกิดอาการเหนื่อยล้า และท้อถอยได้
จนบางครั้งถ้าเราได้มีเวลาเพื่อที่จะหยุดคิดเพียงสักเล็กน้อยเพื่อสำรวจความเป็นตัวของตัวเอง
และสักเสี้ยววินาทีที่บางคนอยากจะหวนกลับไปในช่วงเวลาของวัยเด็ก
ไปสู่ในโลกของจินตนาการ ที่เป็นการรับรู้แบบพิเศษ
แตกต่างออกไปจากโลกของชีวิตจริง ซึ่งดินแดนในนิทานและเทพนิยายนั้น
ดูเหมือนจะมีมนตร์ขลังที่ตรึงตราจิตใจของเด็กๆไว้กับความสนุกสนานและการผจญภัย
ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอิจฉายิ่งนัก
แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อเราได้เติบโตและเริ่มมีภาวะที่จะต้องรับผิดชอบต่างๆ
ทำให้ในวัยที่จะต้องเป็นผู้ใหญ่ได้สูญเสียส่วนที่พิเศษในโลกของจินตนาการไปให้กับหน้าที่การงาน
อันเป็นเรื่องของการดำรงชีวิต ทำให้ละเลยบางสิ่งที่แฝงอยู่ในจิตใจลึกๆ
ที่สามารถใช้เป็นส่วนเติมเต็มในชีวิต นั้นคือโลกแห่งความฝันและจินตนาการ
และการที่ผู้ใหญ่จะกลับไปสัมผัสกับโลกของจินตนาการอีกครั้งก็อาจทำได้
โดยอาศัยสื่อเช่นเดียวกับเด็ก นั้นคือวรรณกรรมเยาวชนนั่นเอง
ซึ่งให้แง่คิดได้ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ โดยที่พักจากสภาวะความเป็นจริง
สู่ห้วงของจินตนาการซึ่งได้แฝงแง่คิดบางอย่างให้สามารถรับรู้ร่วมกันได้
ในที่นี้ข้าพเจ้าต้องการนำเสนอถึงความพิเศษของวรรณกรรมเยาวชนเรื่องหนึ่ง
ที่สามารถครองใจนักอ่านได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ว่าทำไมถึงมีคนนิยมอย่างมากมายแม้ว่าเวลาจะล่วงเลยมานานแล้วก็ตาม
นั้นคือ เรื่องพ่อมดมหัศจรรย์แห่งออซ (The Wonderful
Wizard of Oz) ซึ่งแต่งโดย แอล แฟรงก์ โบม (นักเขียนอเมริกัน)
ภาพประกอบโดย ดับเบิลยู. ดับเบิลยู. เดนสโลว์ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.
๒๔๔๓ โดย บริษัท จอร์จ เอ็ม. ฮิล แม้ว่าจะมีอายุล่วงเลยมาถึง
100 ปีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงมีกระแสให้ความนิยมอย่างต่อเนื่อง
ในรูปแบบของหนังสือก็ได้รับการตีพิมพ์มาแล้วถึง
๕๘ ภาษา มีจำนวนเล่มที่พิมพ์จำหน่ายกว่า ๓๑ ล้านเล่ม,
ในรูปแบบของละครเพลง, ภาพยนตร์, วีดีโอ, และการเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต
ซึ่งก็มีให้เลือกชมได้หลายเว็บไซส์ และสถิติการเข้าชมก็มีอย่างสม่ำเสมอ
จากกระแสความนิยมในเรื่องราวเกี่ยวกับออซ ได้ถูกนิยมและกล่าวขานไม่รู้จบ
ทำให้ผู้ประพันธ์ได้แต่งเรื่องราวของออซออกมาอีกหลายเล่ม
แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่า The Wonderful Wizard
of Oz จึงทำให้เป็นวรรณกรรมที่แพร่หลายอย่างกว้างขวางที่สุดในโลกเล่มหนึ่ง
และในระยะเวลาต่อมาก็ได้มีนักประพันธ์คนอื่นทีเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับออซเช่นกัน
แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่า แม้แต่ในประเทศไทย
ก็ได้มีการแปล แปลง และตีพิมพ์หลายหน
++
Top ++
ในที่นี้ขอกล่าวถึง
ความเป็นมาของพ่อมดออซในประเทศไทย โดยเรื่องที่เคยได้แปลไว้ก่อนคือ
พ่อมดแห่งเมืองมรกต และเจ้าหญิงอ๊อสม่า (The Wonderful
Wizard of Oz and The Lost Princess of Oz)เป็นสำนวนการแปลของ
อ.สนิทวงศ์ ซึ่งเป็นนามปากกาของ อุไร สนิทวงศ์ ณ
อยุธยา และคนที่แปลเรื่องออซต่อมาก็คือ ดร. ชาญวิทย์
เกษตรศิริ ได้แปลเรื่อง พ่อมดมหัศจรรย์แห่งออซ
ในปีพ.ศ.๒๕๒๓ นิตยสาร "การะเกด" ได้ให้
ดร. ชาญวิทย์ ดัดแปลงและเรียงเรื่อง พ่อมดอ๊อด ลงในหนังสือ
ถือได้ว่าเป็นการผจญภัยอมตะที่นำกลับมาเล่าใหม่
โดยที่ชื่อตัวละครในเรื่องจะออกสำเนียงเป็นภาษาไทย
เช่น
ออซ เป็น อ๊อด และดร. ชาญวิทย์ได้กล่าวถึงการดัดแปลงเรื่อง
พ่อมดอ๊อด ไว้ว่า "ผมให้โดโรธีอาศัยอยู่ทางภาคใต้ของไทย
แล้วนำตำนานและนิทานพื้นบ้านมาสร้างภูมิหลังของเรื่อง
ซึ่งจะให้โดโรธีต้องพบและผจญภัย นอกจากนี้ยังนำนิทานชาดก
มาช่วยสร้างบรรยากาศให้เกิดความสมจริงยิ่งขึ้น"
และต่อมาสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ได้รวบรวมเรื่อง
พ่อมดอ๊อด พิมพ์เป็นเล่ม โดยเป็นเรื่องการเดินทางผจญภัยของเด็กผู้หญิงชื่อต้อย
พร้อมกับเพื่อนอีก ๓ คน และแมวชื่อไอ้เหมียวอีก
๑ ตัว ไปยังเมืองทับทิม ภาพประกอบโดย กวี เกษทอง
เป็นภาพขาวดำวาดด้วยดินสอถ่าน แสดงชีวิตความเป็นอยู่แบบไทย
เช่น เสื้อผ้า เครื่องแต่งตัว บ้านเรือน วัด ฉากชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศเมืองร้อน
ซึ่งสภาพเหล่านี้ช่วยให้เรื่อง พ่อมดอ๊อด สมจริงและมีชีวิตชีวา
ส่วนหนังสือแปลเรื่อง พ่อมดมหัศจรรย์แห่งออซ (The
Wonderful Wizard of Oz)ที่แปลโดย ดร. ชาญวิทย์
เกษตรศิริ ได้จัดพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ดวงกมล
ในปีพ.ศ. ๒๕๒๓, สำนักพิมพ์ได้ตีพิมพ์ครั้งที่ ๒
ในปีพ.ศ. ๒๕๓๑, ครั้งที่ ๓ ในปี ๒๕๓๗, ครั้งที่๔
ในปีพ.ศ. ๒๕๓๘, สำนักพิมพ์เรือนปัญญา จัดพิมพ์ครั้งที่
๕ ในปีพ.ศ. ๒๕๔๓ ซึ่งเป็นฉบับฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี
The Wonderful Wizard or Oz
++
Top ++
ผู้อยู่เบื้องหลังและความอมตะของพ่อมดมหัศจรรย์แห่งออซ
|
เหตุใดเรื่องราวเกี่ยวกับออซ
ถึงได้หยัดยืนมาหลายรุ่นหลายสมัยจากรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่งมาได้ถึงปัจจุบันนี้
ดังนั้นจึงน่าสนใจที่จะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับวรรณกรรมเยาวชนอเมริกันเรื่องนี้ดู
โดยเราจะเริ่มทำความรู้จักกับผู้ที่ประพันธ์ที่ได้ให้กำเนิดหนังสือชุด
"ออซ"นี้ก่อน ท่านผู้นั้นคือ
Lyman Frank Baum (L. Frank Baum : ค.ศ. ๑๘๕๖-๑๙๑๙)
นักเขียนชาวอเมริกัน ผู้ประพันธ์เทพนิยายสำหรับเด็ก
จนได้รับสมญานามว่า "พ่อมดแห่งอเมริกา"
และเป็นเจ้าตำหรับตำนาน พ่อมดแห่ง Oz อันโด่งดัง
โบมเกิดที่รัฐนิวยอร์กทางด้านตะวันออกของอเมริกาเมื่อ
ค.ศ. ๑๘๕๖ (คือราวๆต้นสมัยรัชกาลที่ ๔) และมาเสียชีวิตที่ฮอลลีวูด
ทางฝั่งตะวันตก เนื่องจากปัญหาโรคหัวใจและถุงน้ำดีติดเชื้อ
เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ (หรือราวสมัยรัชกาลที่
๖) รามอายุได้ ๖๓ ปี ชีวิตของโบม ผ่านมาตั้งแต่ยุคก่อนสงครามกลางเมืองที่มีการปลดปล่อยทาสผิวดำโดยประธานธิบดี
ลินคอล์น ตลอดมาจนกระทั่งถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่
๑
ปีค.ศ. ๑๘๕๖ ซึ่งเป็นปีเกิดของโบมนั้น นอกจากจะเป็นสมัยก่อนสงครามกลางเมืองอเมริกัน
(ค.ศ.๑๘๖๑-๑๘๖๕) เพียงเล็กน้อย แล้วยังตรงกับการเปิดโรงเรียนอนุบาลแห่งแรกขึ้นในรัฐวิสคอนซิน
ตรงกับการฉลองวันเด็กเป็นครั้งแรกในรัฐแมสซาซูเซตส์
และตรงกับการจัดแสดงละครเด็ก กลอนสำหรับเด็กอย่างมากในนิวยอร์ก
รวมความแล้วนับเป็นสมัยที่ให้ความสนใจต่อเด็กมาก
นี่อาจเป็นภูมิหลังที่ทำให้โบมหันมาสนใจที่จะเขียนเทพนิยายสมัยใหม่สำหรับเด็ก
โบมกล่าวไว้ในคำนำ พ่อมดมหัศจรรย์แห่งออซ ว่า "
เทพบุตร
เทพธิดา นางฟ้าติดปีกของกริมม์ และ แอนเดอร์สัน
นำความสุข มาสู่ดวงใจเด็ก ยิ่งกว่าสิ่งใดที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นมา
แต่เทพนิยายโบราณที่มีมาหลายชั่วอายุคนก็อาจถือได้เสมือนหนึ่ง
"ประวัติศาสตร์" ที่เข้าไปอยู่ในห้องสมุดเด็กแล้วก็ได้
เพราะถึงเวลาแล้วที่ "นิทานมหัศจรรย์"
ชุดใหม่(จะถูก)เขียนขึ้นมาเพื่อความบันเทิงขิงเด็กในปัจจุบันแต่อย่างเดียว
เนื้อเรื่องประสงค์ให้เป็นเทพนิยายสมัยใหม่ที่ยังรักษาไว้ซึ่งความมหัศจรรย์
และความสนุกสนาน ส่วนเรื่องราวที่เจ็บปวดหัวใจ และฝันร้ายนั้นต้องเอาออกไป
"
โบมได้ตั้งความหวังว่าจะเขียนเทพนิยาย "สมัยใหม่"
เพื่อความบันเทิงของเด็ก มีแต่ความมหัศจรรย์สนุกสนาน
และไม่มีเรื่องน่ากลัวหรือฝันร้ายแบบเทพนิยายเก่าๆ
เราจะเห็นกันต่อไปว่า โบมได้ทำตามที่ตั้งความปรารถนาไว้หรือไม่
พ่อมดมหัศจรรย์แห่งออซ ออกสู่ตลาดครั้งแรกเมื่อ
ค.ศ. ๑๙๐๐ ปีเริ่มต้นคริสต์ศตวรรษใหม่พอดี (ตรงกับสมัยปลายรัชกาลที่๕)
ตอนนั้นโบมมีอายุได้ ๔๔ ปีแล้ว นับว่าเป็นนักเขียนที่เริ่มต้น
เอาเมื่ออายุล่วงไปโขทีเดียว
โบมเป็นบุตรชายของครอบครัวที่มีฐานะดีพอสมควร บิดาได้เงินทองมาจากกิจการน้ำมัน
และได้ตั้งบ้านเรือนอยู่แถบเมืองซีราคิว ทางตอนเหนือของรัฐนิวยอร์ก
ปัจจุบันเมืองนั้นเป็นเมืองอุตสาหกรรม และเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยซีราคิว
ชีวิตในวัยเด็ก โบมเป็นเด็กช่างคิดช่างฝัน และชอบเก็บตังเพียงลำพัง
เนื่องจากเขาเป็นโรคหัวใจมาตั้งแต่กำเนิด บิดามารดาจึงจ้างครูมาสอนพิเศษที่บ้าน
ซึ่งกลายเป็นการสนับสนุนให้เขา เป็นเด็กฝันเฟื่องยิ่งขึ้น
เมื่ออายุ ๑๒ ปี โบมถูกส่งไปเข้าโรงเรียนทหาร เขาเกลียดโรงเรียนทหารมาก
และในที่สุดก็หาข้อแก้ตัวได้ว่า ตนเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ
เลยหลุดออกมาจากระบบการศึกษาแบบนั้น โบมสนใจอะไรหลายๆอย่างในชีวิตวัยรุ่น
และบางอย่างดูจะไม่สัมพันธ์สอดคล้องกันนัก
เมื่อโบมออกจากโรงเรียน เขาเริ่มทำงานหนังสือพิมพ์
โบม ฉายแววแห่งการเป็นนักประพันธ์ตั้งแต่อายุ ๑๕
ปี เมื่อบทกวีได้ถูกตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ The
Rose Lawn Journal ซึ่งเขาและพี่ชายร่วมกันจัดตั้งขึ้น
โชคดีที่พ่อรวย ให้เครื่องพิมพ์เขาเอามาพิมพ์หนังสือได้เอง
ในตอนนี้เขาก็เริ่มสนใจการเลี้ยงไก่ด้วย ซึ่งนับเป็นเรื่องความสนใจชนิดที่ไม่เกี่ยวกับการทำหนังสือเท่าไรนัก
แต่โบมก็ดึงมันเข้ามาเกี่ยวจนได้ กล่าวคือหนังสือเล่มแรกที่เขาเขียนนั้น
เป็นคู่มือการเลี้ยงไก่ ซึ่งมีชื่อว่า The Book
of the Hamburgs
พออายุได้ ๑๙ ปี โบมก็เข้าไปร่วมงานอาชีพกับนักละครเร่
มีคนกล่าวว่าสมัยนั้น เขาเป็นชายหนุ่มรูปหล่อ ตาสีเทา
ผมสีน้ำตาลแก่ สูง ๖ ฟุต แล้วก็ถนัดมือซ้าย และที่น่าสนใจคือเขามีเสียงดีมาก
(เหมือนๆกับนักประพันธ์ชื่อดังอีกคนของอเมริกาคือ
มาร์ก ทเวน)
จากประสบการณ์ละครเร่ โบมเริ่มทำงานประพันธ์ด้วยการเขียนบทละครเพลง
เรื่องแรกคือ The Maid of Arran ซึ่งก็ประสบความสำเร็จพอสมควร
พออายุได้ ๒๒ ปี เขาก็ได้สมรสกับ Maude Gage และมีลูก
๔ คน ซึ่งเป็นผู้ชายทั้งหมด นี่เองเป็นสาเหตุที่ทำให้เขา
ให้ตัวเอกในนิทานเด็กของเขา คือหนูน้อยโดโรธี ที่อยากกลับบ้านที่แคนซัส
ให้เป็นเด็กผู้หญิง โบมเป็นพ่อที่ใจดี และไม่ตีลูกๆ
ซึ่งต่างกับภรรยาของเขา
ชีวิตครอบครัวสมัยก่อนขึ้นศตวรรษใหม่ และก่อนที่หนังสือชุด
"ออซ" เล่มแรกของเขาจะออกสู่ตลาดนั้น
ต้องนับว่าเป็นชีวิตที่ล้มเหลว ทั้งนี้เพราะเขาต้องเปลี่ยนแปลงอาชีพบ่อยๆ
แม้ว่าจะมีบิดาร่ำรวยก็ตาม ในที่สุดโบมก็ต้องพึ่งตนเองเป็นหลัก
คณะละครที่เขาร่วมอยู่ด้วยได้ประสบเคราะห์กรรมหนัก
ไฟไหม้โรงละคร โบมเลยต้องหันไปหาอาชีพเซลส์แมน นักหนังสือพิมพ์
เจ้าของฟาร์ม ช่างภาพ หรือเจ้าของร้านขายของชำ เพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัว
ต่อมาโบมได้พิมพ์หนังสือสำหรับเด็กเรื่องแรกชื่อ
Tales from Mother Goose ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น
Mother Goose in Prose ในปี ค.ศ. ๑๘๙๙ หลังจากนั้น
โบมก็ได้เริ่มต้นชีวิตนักประพันธ์อย่างเต็มตัว และแต่งเทพนิยายสำหรับเด็กไว้มากมาย
โดยใช้นามปากกา เช่น Floyd Akers, Edith Van DYNE
และ Schuyler Staunton
ถึงแม้ชีวิตเบื้องต้นของโบมจะประสบความล้มเหลวตามทัศนะ
ปรัชญาชีวิตของอเมริกันก็ตาม แต่ที่ดูเหมือนว่าความล้มเหลวของเขานั้น
หาได้หมายถึงการมีชีวิตที่ไร้ความหมายไม่ เขาผ่านประสบการณ์มากมาย
บางครั้งเขาทำงานที่ดูประหลาด เช่น การออกนิตยสารว่าด้วยการตกแต่งหน้าต่างบ้าน
แต่บางครั้งเขาก็เขียนบทความที่เรียกได้ว่าก้าวหน้ามาก
เช่น การเขียนบทความแสดงความเห็นอกเห็นใจชนกลุ่มน้อย
โบมเขียนบทความเกี่ยวกับอินเดียแดง ซึ่งในขณะนั้นนักหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่
ช่วยปล่อยข่าวลือว่า อินเดียแดงเผ่าซูซ์จะฆ่าฟันคนผิวขาว
แล้วนี่เป็นเหตุการณ์ก่อนหน้าที่ทหารผิวขาว จะสังหารหมู่ชาวอินเดียแดงกว่า
๓๐๐ คน ที่วูดเด็ดนีไม่เท่าไร
ดูเหมือนว่าชีวิตของโบมก่อนที่จะประสบความสำเร็จนั้น
คล้ายกับชีวิตนักเขียนอเมริกันอีกคนหนึ่งคือ เอ็ดการ์
ไรซ์ เบอร์โรส์(Edgar Rice Burroughs ; ค.ศ.๑๘๗๕-๑๙๕๐)
เบอร์โรส์คือนักประพันธ์ที่สร้างวีรบุรุษพื้นบ้านที่มีนามว่า
ทาร์ซาน นั่นเอง หนังสือชุด "ทาร์ซาน"
นั้น เริ่มต้นด้วยเรื่อง Tazan of the Apes (ค.ศ.๑๙๑๔)
จากนั้นก็มีเล่มอื่นๆติดตามออกมาอีกมากมาย เป็นหนังสือขายดีมหาศาล
เป็นหนังโรงและหนังโทรทัศน์ ครั้งหนึ่ง จอห์นนี
ไวสมุนเลอร์ ดาราที่เล่นเป็นทาร์ซานมีชื่อติดปากคนแทบทุกวัย
ชีวิตของเบอร์โรส์คล้ายชีวิตของโบม คือเบอร์โรส์ประสบความสำเร็จเป็นนักประพันธ์เมื่ออายุเกือบ
๔๐ ปีเข้าไปแล้ว เขาเป็นผู้สร้างเรื่องราวที่เป็นแฟนตาซี
เป็นความฝันที่พาผู้อ่านหนีจากโลกที่เป็นอยู่ไปสู่ดินแดนป่าดงดิบแห่งแอฟริกา
โบมก็เช่นเดียวกัน เขาพาผู้อ่านไปสู่ดินแดนเทพนิยายมหัศจรรย์แห่งออซ
เรื่อง "ทาร์ซาน" นั้นถูกแปลเป็นภาษาต่างๆทั่วโลก
ประมาณเกือบ ๖๐ ภาษา รวมทั้งภาษาไทยด้วย หนังสือ
"ทาร์ซาน" นี้พิมพ์ขายกว่าหลายสิบล้านเล่ม
ในรัฐแคลิฟอร์เนียมีเมืองหนึ่งตั้งชื่อเป็นเกียรติ์ไว้ว่า
"ทาร์ซาน"
สำหรับโบม สิ่งที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จในการเขียนหนังสือ
สำหรับเด็กก็คือ ลักษณะประจำตัวของเขา โบมเป็นคนชอบเล่านิทานให้เด็กฟังก่อนนอน
และความที่เขาอยากได้ลูกสาว ทำให้เขากำหนดตัวเองเป็นเด็กหญิงน้อยๆ
อายุประมาณ ๖ ขวบ โบมเข้าใจดีว่าเด็กนั้นชอบโลกแห่งความฝัน
ฝันที่จะเห็นโลกมหัศจรรย์ โลกนั้นมีตุ๊กตาตัวโตๆที่พูดได้
เป็นเพื่อนเล่นก็ได้
ในขณะเดียวกัน เขาก็เข้าใจจิตใจเด็กด้วย เข้าใจในแง่ที่เด็กมักมีความหวาดกลัว
ตกใจง่าย ต้องการความอบอุ่นจากผู้ใหญ่และจากบ้าน
เด็กไม่ชอบที่จะพลัดพรากจากพ่อแม่และบ้านของตน ดังนั้นเขาจึงสร้างหนูน้อยโดโรธีขึ้นมา
เธอถูกลมพายุพัดหอบไปไกลจากบ้าน เธอพยายามอย่างที่จะกลับบ้านให้ได้
และเธอก็ได้สหายในช่วงเวลานั้นคือ หุ่นไล่กา ชายตัดไม้ดีบุก
และสิงโตขี้ขลาด ต่างก็เดินทางออกมาจากโลกของเด็กทั้งนั้น
นอกจากนี้ ความบันดาลใจในการแต่งเรื่องของโบมนั้น
คงจะมาจากสภาพแวดล้อมทั่วไปของอเมริกา โบมเริ่มต้นด้วยการบรรยาย
ภาพลมพายุไซโคลน ซึ่งพัดมาหอบเอาบ้านและหนูน้อยโดโรธีไปยังต่างแดน
มหาภัยครั้งนี้คงจะมาจากความทรงจำของ
โบม เกี่ยวกับสงครามกลางเมือง จากแผ่นดินไหวเมืองซานฟรานซิสโก
และจากพายุไซโคลนที่เกิดที่แคนซัสจริงๆ เมื่อ ค.ศ.
๑๘๙๓ พายุนี้ได้ทำลายเมืองย่อยยับไป ๒ เมือง นี่เป็นโครงเรื่องสำคัญของเขา
เมื่อค.ศ.๑๘๙๙ ขณะที่โบมเขียน พ่อมดมหัศจรรย์แห่งออซ
แล้วได้ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.๑๙๐๐นั้น ตรงกับประวัติศาสตร์สำคัญของอเมริกา
กล่าวคือเมื่อสงครามกลางเมืองสงบแล้ว อเมริกาก็เริ่มต้นเป็นประเทศที่มีความเจริญทางอุตสาหกรรมอย่างสูง
อเมริกาได้สร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างชายฝั้งมหาสมุทรทั้งสองด้านได้เรียบร้อย
อเมริกาได้เปลี่ยนสภาพจากประเทศที่อยู่ห่างไกลจากการเมืองของโลก
กลายมาเป็นมหาอำนาจทางทะเล ทั้งด้านแอตแลนติกและแปซิฟิก
ในปีค.ศ.๑๘๙๘ ก่อนโบมเขียนเรื่อง "ออซ"
เพียงหนึ่งปี ก็เกิดสงครามอเมริกา-สเปนขึ้น สงครามนี้เกิดที่คิวบา
ทำให้อเมริกายึดคิวบาจากสเปนไป และสงครามได้ขยายมาถึงฟิลิปปินส์
อีกด้วย ฟิลิปปินส์ขณะนั้นกำลังมีการปฏิวัติ ชาวฟิลิปปินส์
ภายใต้การนำของนักปฏิวัติ เช่น อกินาลโด ได้ทำการประกาศเอกราชของตน
อเมริกาได้ฉวยโอกาสที่กำลังรบกับสเปนอยู่นั้น ยกกองทัพเรือเข้ามายึดฟิลิปปินส์
จากนักปฏิวัติเหล่านั้นจากสเปน พูดง่ายๆก็คือ อเมริกาได้กลายเป็นประเทศจักรวรรดินิยมขึ้นมาเต็มตัว
โดยมีดินแดนอาณานิคมของตนเหมือนกับมหาอำนาจอื่นๆในยุโรป
เหตุการณ์เหล่านี้กระทบต่อความรู้สึกนึกคิดของโบมมาก
เขาเห็นสภาพการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรม เห็นความตกต่ำของชีวิตชนบทที่เรียบง่าย
เห็นชีวิตกสิกรตามไร่และนาที่ถูกกลืนไปกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่
และก็เห็นความเป็นจักรวรรดินิยมในประเทศของตน กล่าวง่ายๆคือ
ในขณะที่กองทัพเรืออเมริกันแล่นเข้ายึดอ่าวมะนิลา
โบมก็กำลังมองหาอะไรสักอย่างที่ตรงกันข้ามกับสิ่งนั้น
และสายตาของเขาก็ได้ไปต้องกับดัชนีบัตรค้นคว้าง่ายๆ
ที่ดัชนีได้ชี้ว่าเรียงตัวอักษรจาก A ถึง N และอีกอันเรียงจาก
O ถึง Z เขาได้ดึงดัชนีอันหลังคือ OZ มาเป็นชื่อพ่อมด
ในดินแดนอันแสนไกลของเขา
ดังนั้นจึงมีคนตีความกันว่าหนังสือชุด "ออซ"
นั้นเป็นปฏิกิริยาที่เกิดจากความตึงเครียด ระหว่างความเจริญทางเทคโนโลยี
กับชีวิตชนบท ถึงแม้ว่าโบมจะตระหนักในข้อนี้หรือไม่ก็ตาม
แต่เขาก็ได้นำผู้อ่านหนีไปสู่โลกความฝันแห่งชนบท
ที่เป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้ พ่อมดมหัศจรรย์แห่งออซ
เป็นที่นิยมชมชื่นของคนอ่านในอเมริกา เพราะมันได้ให้สิ่งที่ตรงกันข้าม
กับชีวิตประจำวันที่คนอเมริกันประสบอยู่
โบมกล่าวไว้ในคำนำว่า เขาตั้งใจเขียนเทพนิยาย "สมัยใหม่"
ที่มีจุดประสงค์เพื่อความบันเทิง และไม่มีเรื่องน่าสะพรึงกลัวฝันร้ายอีกต่อไป
ดูเหมือนว่า ความพยายามที่จะเป็น "สมัยใหม่"
ของเขาไม่ประสบความสำเร็จเท่าไร เพราะ ออซ ของเขายังมีลักษณะเทพนิยายแบบเดิมอยู่มาก
นั่นคือมีแม่มดผู้น่าสะพรึงกลัว มีตัวแทนของความดีและความชั่ว
แต่ที่น่าประหลาดก็คือ โบมพยายามเปลี่ยนความคิดตามแบบฉบับไปอีกแบบหนึ่ง
ความคิดตามแบบฉบับนี้หมายความว่า เมื่อกล่าวถึงแม่มด
แม่มดก็จะต้องเป็นตัวร้าย แต่โบมเปลี่ยนเป็นว่าแม่มดนั้น
มีทั้งดีทั้งร้าย ดังนั้นแม่มดในดินแดนแห่งออซจึงมีอยู่
๔คน แม่มดแห่งทิศเหนือกับแม่มดแห่งทิศใต้เป็นคนดี
ส่วนแม่มดแห่งทิศตะวันออกับแม่มดแห่งทิศตะวันตกเป็นคนเลว
นี่เป็นการเสนอความคิดของแม่มดจากเนื้อแท้ของแต่ละคน
ประเด็นสำคัญของ พ่อมดมหัศจรรย์แห่งออซ น่าจะอยู่ที่ความปรารถนาของสี่สหาย
คือ โดโรธีอยากกลับบ้าน หุ่นไล่กาอยากได้มันสมอง
ชายตัดไม้ดีบุกอยากได้หัวใจ สิงโตอยากได้ความกล้าหาญ
โบมตั้งความปรารถนาของแต่ละสหายต่างๆกัน ตั้งตามสภาพของตัวบุคคล
และก็เป็นความปรารถนาที่เรียบง่ายแต่แฝงเร้น นี่อาจจะเป็นจุดที่ทำให้
ผู้อ่านติดใจอย่างมาก
และความปรารถนาของสี่สหายดูจะคล้ายๆกับความรู้สึกของมนุษย์ทั่วไป
คือต่างมีความปรารถนาอะไรบางอย่างในชีวิตของตน เทพนิยายเรื่องนี้กระตุ้นให้คนตั้งความปรารถนานั้นนั้น
ตั้งให้คนใฝ่ฝันและพยายามคว้ามาให้ได้ แต่ขณะเดียวกันก็อาจจบลงด้วยว่า
ความปรารถนานั้นจะได้มาด้วยตนเอง หรือที่แน่นอนก็คือ
ความปรารถนานั้นจะได้มา ก็ด้วยความมั่นใจในตัวของตัวเอง
และนี่ก็เป็นประเด็นหลักของหนังสือ คือ ความเชื่อมั่นในตนเอง
ดังนั้นจุดจบของ พ่อมดมหัศจรรย์แห่งออซ ก็คือ ออซเป็นพ่อมดจอมปลอมและโดโรธีก็พบว่า
เธอมีรองเท้าวิเศษอยู่ในตัวเองแล้ว และเธอก็สามารถจะกลับบ้านที่แคนซัสเมื่อไรก็ได้
ขณะเดียวกันหุ่นไล่กาซึ่งคิดว่าตนโง่อยู่ตลอดเวลานั้น
ก็ต้องการความมั่นใจเพื่อให้ตระหนักถึงปัญหาของตน
ชายตัดไม้ดีบุกก็เช่นกัน และสิงโตขี้ขลาดก็สมปรารถนา
ได้ความมั่นใจว่า ตนเองนั้นเป็นผู้กล้าหาญ
ดังนั้น "ออซ" ก็ไม่ใช่พ่อมดมหัศจรรย์
มิใช่ผู้ที่จะดลบันดาลอะไรให้ใครได้ โดโรธีกับสหายของเธอ
ตลอดทั้งผู้คนอื่นๆ จะต้องมีความเชื่อมั่นในตนเอง
ที่จะได้มาซึ่งสิ่งที่ตนปรารถนา
ดังเช่น โดโรธี ซึ่งแสดงโดย จูดี การ์แลนด์ เธอได้ร้องเพลงประกอบไว้ในหนังด้วย
ซึ่งเพลงนั้นยังมีคนนิยมอยู่มาจนบัดนี้ เนื้อร้องตอนหนึ่งมีว่า
" Somewhere over the rainlow, way up high
There's a land that I heard of once in a lullaby
Somewhere over the rainbow, skies are blue
And the dreams that you dare to dream really do
come true.
และได้ร้องไว้ในท่อนสุดท้ายจากเพลงของเธอว่า
Somewhere over the rainbow, bluebirds fly
Birds fly over the rainbow,
Why then, oh, why can't I ? "
The Wonderful Wizard OF Oz ได้รับการตีพิมพ์เมื่อปี
ค.ศ. ๑๙๐๐ จากนั้นได้ถูกนำไปสร้างเป็นละครเวทีและภาพยนตร์ในปี
ค.ศ. ๑๙๐๒ และ ๑๙๓๘ ตามลำดับ งานประพันธ์ชิ้นนี้นับได้ว่าเป็นผลงานที่ผลักดันให้
โบม ก้าวสู่ทำเนียบนักเขียนนวนิยายขายดี และได้กลายเป็นนิทานอมตะของสหรัฐอเมริกา
เป็นเรื่องที่เด็กๆชื่นชอบ มากที่สุด ได้กลายเป็นต้นแบบของงานเขียนเกี่ยวกับออซอีกหลายเรื่อง
ทั้งจากฝีมือของ แอล.
แฟรงก์ โบม ก็มีอยู่ด้วยกันถึง๑๔เล่มได้แก่
- The Wonderful Wizard of Oz
- The Marrelous Land of Oz
- Ozma of Oz
- Dorothy and the Wizard in Oz
- The Road to Oz
- The Emerald City of Oz
- The Patchwork Girl of Oz
- Tik-Tok of OZ
- The Scarecrow of Oz
- Rinkitink in Oz
- The lost Princess of Oz
- The Tin Woodman of Oz
- The Magic of Oz
- Glinda of Oz
และจากนักเขียนอื่นๆ อีกหลายคน เท่าที่ ซี. เจ.
ฮิงกิ สมาชิกท่านหนึ่งของสโมสรพ่อมดนานาชาติแห่งออซ
ได้ค้นคว้านับตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๔๓-๒๕๓๐ ว่ามีถึง ๓๙
เรื่อง
กระทั่งปัจจุบันนี้ ยังมีผู้คนที่หลงไหลในเรื่องราวของออซ
ก็ยังเพียรพยายาม เขียนเรื่องหรือสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ
เกี่ยวกับออซกันอยู่ทุกปี นับเป็นเรื่องเกร็ดย่อยของออซ
ที่ผู้แต่งขึ้นสำหรับครอบครัวมิตรสหายและสำหรับความบันเทิง
หนังสือและภาพยนตร์เกี่ยวกับดินแดนมหัศจรรย์ของออซสามารถเรียกร้องความสนใจจากผู้อ่านและผู้ชมได้เสมอ
จนจำนวนผู้ที่สนใจเรื่องอซที่สมัครเป็นสมาชิกสโมสรพ่อมดนานาชาติแห่งออซเพิ่มขึ้นเรื่อย
นอกจากนี้ยังมีวรสารเกี่ยวกับออซพิมพ์จำหน่ายชื่อ
The Baum Bugle; A Journal of Oz
ถึงแม้ว่าหนังสือชุด "ออซ" จะประสบความสำเร็จทางด้านการขายอย่างมาก
และได้กลายเป็นบทละครเพลง, ภาพยนตร์ แต่หนังสือชุดออซ
ได้ถูกละเลยจากวงการวรรณกรรมอเมริกาเป็นเวลานานทีเดียวซึ่งนักวิจารณ์วรรณกรรมเคยมีความเห็นว่า
หนังสือชุดออซ เสนอแนวทางที่ขี้ขลาดในการดำรงชีวิต
ไม่มีปรัชญาอะไรใหม่ นอกจากแบบฉบับของเทพนิยายที่ล้าสมัยแล้ว
วิธีเขียนก็ไม่งดงามประณีตทางด้านภาษา จึงไม่จัดเป็นวรรณกรรมชั้นดี
เป็นเวลานานทีเดียวที่ห้องสมุดต่างๆในอเมริกา ไม่สนใจสั่งเข้าห้องสมุด
ซึ่งบรรณารักษ์ได้ให้เหตุผลว่า ถ้าซื้อ "ออซ"
หนึ่งเล่ม ก็ต้องซื้อเล่มอื่นๆต่ออีกราว ๓๐-๔๐ เล่ม
อย่างไรก็ตาม เรื่องของ "ออซ" โดยเฉพาะเล่มแรก
พ่อมดมหัศจรรย์แห่งออซ นั้น มีผู้ติดอกติดใจอย่างมาก
และยิ่งถูกสร้างเป็นหนังครั้งแรกสมัย จูดี การ์แลนด์
แล้ว "ออซ" ได้กลายเป็นชื่อที่ติดปากคนอเมริกัน
กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ถูกนำมาใช้บ่อยๆ โดยที่ความสนใจของมหาชนส่วนใหญ่พิสูจน์ได็
โดย "ออซ" ได้กลายเป็นบทละครเพลงบรอดเวย์ที่ดังขึ้นมาอีก
และในปีค.ศ. ๑๙๗๘ ก็ถูกสร้างเป็นหนังอีกครั้ง โดยใช้ชื่อสั้นๆว่า
The Wiz โดยมีผู้แสดงเป็นคนนิโกรทั้งหมด และมี ไดอานา
รอส นักร้องสาวผิวดำเล่นเป็น โดโรธี
นับตั้งแต่ทศวรรษ ค.ศ. ๑๙๓๐ เป็นต้นมา "ออซ"
ได้กลายเป็นเรื่องราวที่ได้รับความสนใจมาโดยตลอด
กลายเป็นประเด็นของนักประวัติศาสตร์สังคม ที่พยายามดูว่างานเขียนประเภทที่ใช้จินตนาการนี้
สะท้อนสังคมอย่างไร นอกจากนี้ "ออซ" ยังได้กลายเป็นหัวข้อบทความ
หนังสือ และท้ายที่สุดเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก
พ่อมดมหัศจรรย์แห่งออซ เป็นหนังสือนิทานสำหรับเด็กที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเล่มหนึ่งในอเมริกา
อาจจะเทียบเคียงได้กับ Alice in Wonderland โดย
เลวีส แคร์รอลล์ นักเขียนชาวอังกฤษ หรือเรื่องเจ้าชายน้อย
โดย แซงเตก ซูเปอรี นักเขียนชาวฝรั่งเศส และผู้จัดระดับหนังสือในอเมริกากล่าวว่า
พ่อมดมหัศจรรย์แห่งออซ เหมาะสำหรับเด็กที่มีอายุ
๘ ขวบขึ้นไป
กล่าวกันว่า Alice in Wonderland เป็นหนังสือเด็กที่เหมาะสำหรับผู้ใหญ่
และเป็นขวัญใจของบรรดาปัญญาชนตะวันตก ทั้งนี้เพราะนิทานอังกฤษเรื่องนี้
มีเรื่องราวที่สลับซับซ้อนแฝงไว้มาก มีแง่มุมต่างๆที่ขบขัน
แบบชนิดที่ต้องใช้ความคิด ส่วน เจ้าชายน้อย นั้น
ก็ดูจะมีปรัชญาชีวิตที่ลึกซึ้งแฝงอยู่เช่นกัน เนื้อหาอาจจะดูหวานและน่ารัก
ตามแบบฉบับฝรั่งเศส แต่พ่อมดมหัศจรรย์แห่งออซ ดูจะเทียบคลาสิกสองเรื่องข้างต้นไม่ได้
นิทานเด็กของอเมริกาเล่มนี้ ดูจะเป็นหนังสือของเด็กจริงๆ
ปรัชญาชีวิตที่เรียบง่าย เนื้อหาเป็นเรื่องการผจญภัย
เหมาะสำหรับเหล่าให้เด็กฟัง ไม่มีอะไรซับซ้อนที่ต้องการการตีความนัก
และสิ่งที่ควบคู่ไปกับเนื้อเรื่องนั้นก็คือ ภาพประกอบที่
ดับเบิลยู. ดับเบิลยู. เเดนสโลว์ ได้เขียนไว้ในการพิมพ์ครั้งแรก
ซึ่งจัดว่าเป็นภาพประกอบ "คลาสสิก" เรื่องและรูป
พ่อมดมหัศจรรย์แห่งออซ นี้เป็นของคู่กันที่แยกออกจากกันไม่ได้
เหมือนกับเรื่องและรูปของ Alice in Wonderland และ
เจ้าชายน้อย ที่ต้องนำมาพิมพ์ร่วมกัน ไม่ว่าจะแปลออกมาเป็นภาษาใดก็ตาม
จึงจะนับได้ว่าสมบูรณ์ที่สุด
++
Top ++
พ่อมดมหัศจรรย์แห่งออซ (The Wonderful of
Oz)
|
เมื่อเราได้รับรู้ถึงภูมิหลังของหนังสือชุด
"ออซ" เราควรจะดูกันต่อไปว่า โดยเนื้อแท้แล้ว
พ่อมดมหัศจรรย์แห่งออซ นี้เป็นอย่างไร
พ่อมดมหัศจรรย์แห่งออซ มีเรื่องย่อๆ ดังนี้
หนูน้อยโดโรธี กับสุนัขของเธอ โตโต้ ได้ถูกลมพายุไซโคลนหอบไปจากบ้านที่แคนซัส
ไปตกอยู่ท่ามกลางดินแดนประหลาดแห่งออซ เธออยากกลับบ้านที่แคนซัสมาก
ดังนั้นเธอจึงเดินทางไปยังเมืองมรกต ตามคำบอกของแม่มดใจดี
เพื่อไปหาพ่อมดออซผู้ยิ่งใหญ่ ให้ช่วยส่งเธอกลับบ้าน
ระหว่างทางนั้นเธอได้พบสหายร่วมเดินทางด้วย
สหายหนึ่งเป็น "หุ่นไล่กา" ซึ่งหุ่นไล่กามีความคิดว่าตนเองโง่
ก็เลยอยากไปหาพ่อมดออซ ให้ใส่มันสมองให้
สหายที่สองเป็น "ชายตัดไม้" ที่สร้างขึ้นด้วยดีบุก
ซึ่งชายตัดไม้ดีบุกคิดว่าตนเองไม่มีหัวใจ ก็เลยอยากไปหาพ่อมดออซ
ให้ใส่หัวใจให้
สหายที่สามเป็น "สิงโต" ซึ่งสิงโตคิดว่าตนเองขี้ขลาด
ก็เลยอยากไปหา พ่อมดออซ ให้ใส่ความกล้าหาญให้
จากคำเล่าลือถึงอำนาจ วิเศษของพ่อมดออซ ได้ชักพาสี่สหายเดินทางรอนแรมมาตามถนนอิฐสีเหลือง
เพื่อขอความช่วยเหลือจาดพ่อมดออซ ให้ช่วยดลบันดาลให้ความปรารถนา
ของแต่ละคนสัมฤิทธิ์ผล
ทั้งสี่สหายจึงได้ออกเดินทางไปด้วยกัน เต็มไปด้วยการผจญภัยไปตลอดทาง
เห็นวิ่งประหลาดมหัศจรรย์มากมาย ด้วยอานุภาพแห่งคุณความดี
และมิตรภาพอันงดงามที่สหายทั้งสี่มอบให้กัน ทำให้พวกเขาสามารถชนะอุปสรรคนานับประการมาได้
ครั้นเมื่อเดินทางไปถึงเมืองมรกต ก็ได้พบว่าออซ
พ่อมดมหัศจรรย์ นั้นเป็นคนจอมปลอม หาได้มีความสามารถที่จะส่ง
โดโรธี ให้กลับบ้านที่แคนซัสได้ไม่ หรือจะใส่มันสมองให้หุ่นไล่กาก็ไม่ได้
หรือจะใส่หัวใจให้ชายตัดไม้ดีบุกก็ไม่ได้ แล้วก็ใส่ความกล้าหาญให้สิงโตขี้ขลาดก็ไม่ได้อีกเช่นกัน
ทั้งสี่สหายจึงต้องผจญภัยต่อไปอีก และในที่สุดก็พบว่า
สิ่งที่ตนต่างปรารถนานั้น ได้มีอยู่ในตัวของตัวเองแล้ว
โดโรธีก็ได้กลับบ้านที่แคนซัส หุ่นไล่กาก็ได้มันสมอง
ชายตัดไม้ดีบุกก็ได้ใจ และสิงโตก็ได้กลับบ้าน เรื่องก็จบลงอย่างมีความสุข
++
Top ++
เค้าโครงในการเขียนเรื่องสำหรับเด็กประเภทบันเทิงคดี
(นิทาน นิยาย)
|
ตอนต้นเรื่อง
เปิดฉาก
แนะนำตัวละคร
ปัญหาของตัวละคร
ตอนกลางของเรื่อง
ปัญหาของตัวละครส่งผลกระทบ
ให้เกิดเรื่องราวต่างๆหลายเรื่อง (เน้นแก่นเรื่อง)
ตอนปลายเรื่อง
แก้ไขปัญหา
นำไปสู่ตอนจบอย่างสร้างสรรค์
มีจุดสะเทือนใจ / จุดตื่นเต้น
โดยเน้นเหตุการณ์ที่เคลื่อนไหว
++
Top ++
บทวิเคราะห์ พ่อมดมหัศจรรย์แห่งออซ
|
เมื่อเราได้รู้จักกับที่มาและเบื้องหลังของ
พ่อมดมหัศจรรย์แห่งออซ กันแล้ว ถึงความเป็นวรรณกรรมที่อมตะ
แต่เพราะเหตุใด ถึงได้มีผู้คนนิยม ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
ไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่น ที่ยังคอยเฝ้าติดตาม จนกระทั่งมีอายุยืนยาวถึง
๑๐๐ ปีมาได้ เราจึงควรน่าที่จะวิเคราะห์ ลงไปในเบื้องลึกของเนื้อหาดูบาง
ว่ามีส่วนประกอบอะไรที่ชักจูงให้หลงไหลและอยากสัมผัสกับดินแดนมหัศจรรย์แห่งออซ
นิทานมหัศจรรย์เรื่องนี้
โดยเริ่มต้นจากผู้ประพันธ์ ก็คือ แอล. แฟรงก์ โบม
นั้นแม้ว่าเขาจะประสบความสำเร็จในงานเขียนเมื่ออายุมากแล้ว
แต่สิ่งที่สามารถทำให้เขาประสบความสำเร็จก็คือ ลักษณะประจำตัวของเขาเอง
ที่ชอบเล่านิทานให้เด็กฟังก่อนนอน และเขาก็เป็นคนที่รักเด็กรักลูก
แต่ลูกของเขาทั้ง ๔ คนนั้น ล้วนเป็นเด็กผู้ชายทั้งสิ้น
เขาจึงได้สมมุติให้ตัวเขาเองเป็นเด็กหญิงน้อยๆอายุประมาณ
๖ ขวบ ในการแต่งเรื่องนี้ โดโรธี, หุ่นไล่กา, ชายตัดไม้ดีบุก,
สิงโตขี้ขลาด ทั้ง ๔ คนนี้ ได้ร่วมเดินทางไปผจญภัยด้วยกัน
ก็เป็นจำนวนเท่ากับลูกๆที่เขามีเช่นกันด้วย
นี่ก็คือสิ่งที่เห็นได้ชัดว่าเขาจะต้องเขียนออกมาจากหัวใจ
ซึ่งผู้จะเขียนวรรณกรรมสำหรับเด็กให้ดีนั้น จำเป็นจะต้องมีความรู้พื้นฐานทางด้านจิตวิทยาเด็ก
โดยเฉพาะจะต้องรู้ว่าเด็กมีความต้องการในสิ่งใดบ้าง
และเด็กมีความสนใจอะไร เด็กต้องการที่จะเรียนรู้
อยากรู้ว่าสังคมที่เขาอาศัยอยู่เป็นเช่นไร สิ่งต่างๆที่เห็น
เกิดขึ้นมาได้อย่างไร และทำไมถึงยังดำรงอยู่ได้
ด้วยเหตุนี้หนังสือสำหรับเด็กจึงต้องตั้งอยู่บนรากฐานสำคัญ
๓ ประการ คือ
เด็กชอบอะไร, อะไรบ้างที่เด็กไม่ชอบ และจะให้อะไรกับเด็ก
ซึ่งโบมก็เข้าใจดีว่า เด็กนั้นชอบโลกแห่งความฝัน
ฝันที่จะเห็นโลกมหัศจรรย์ ในโลกที่มีตุ๊กตาตัวใหญ่พูดได้
และมีเพื่อนเล่นด้วยกัน ที่จะได้ผจญภัย และเรียนรู้สิ่งต่างๆรอบตัว
และเขาก็รู้ถึงจิตใจของเด็กด้วยในแง่ที่ว่า เด็กมักจะมีความหวาดกลัว
ตกใจง่าย ต้องการความอบอุ่นจากผู้ใหญ่และจากทางบ้าน
เด็กไม่ชอบที่จะพลัดพรากจากพ่อแม่และบ้านของตน เขาจึงสร้างให้โดโรธีถูกพายุหอบให้ไปไกลจากบ้าน
และพยายามที่จะหาทางกลับบ้านให้ได้ และระหว่างทางเธอก็ได้พบกับสหายอีก
๓ คน ที่ต่างก็มีสิ่งที่แต่ละคนต้องการที่จะให้ได้มาเช่นกัน
แล้วความต้องการของเด็ก คืออะไร
เด็กมีความต้องการขั้นขั้นพื้นฐาน เหมือนกับผู้ใหญ่ทั่วไป
ดังนี้
๑. ต้องการความอบอุ่น ความปลอดภัย ทั้งทางด้านวัตถุ
อารมณ์ และจิตใจ
๒. ต้องการจะเป็นส่วนหนึ่งของหมู่คณะ ครอบครัว บ้านเมือง
ประเทศชาติ และโลกของเรา
๓. ต้องการที่จะให้ผู้อื่นรัก และต้องการที่จะรักผู้อื่น
๔. ต้องการที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต และให้ตัวเองมีคุณค่า
๕. ต้องการที่จะเรียนรู้ อยากรู้ อยากเห็น
๖. ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง มีอิสรภาพ เสรีภาพ เด็กๆต้องการพ้นจากกิจวัตรประจำวันในครอบครัว
และพ้นจากการควบคุมของผู้ใหญ่
๗. มีความรักสวย รักงาม และต้องการตอบสนองอารมณ์
นอกจากความต้องการพื้นฐาน ๗ ประการของมนุษย์แล้ว
เด็กก็ยังมีความต้องการเพิ่มอีก ๒ ประการที่ผู้ใหญ่ไม่มี
คือ
เด็กต้องการโลกแห่งความนึกฝัน และเด็กต้องการให้ผู้อื่นเป็นสุขสมหวังตามที่ตัวเองเป็น
ดังนั้น โบมจึงสามารถที่จะเข้าใจถึงรู้ความต้องการของเด็กแล้ว
เรื่องที่ได้นำเสนอจึงมีความเร้าใจ ให้แรงดลใจ สร้างความสัตย์ซื่อให้กับเด็ก
ให้ความคิดกระจ่างใสตามสภาพของบุคคล และโน้มนำจิตใจเด็กให้รู้จักทำงานเพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่าเดิม
จะต้องสร้างความหวัง ถึงแม้ว่าโลกจริงๆของเด็กนั้นอาจจะเจ็บปวด
ซึ่งการเขียนเรื่องสำหรับเด็กนั้นต้องช่วยให้เด็กมีความเชื่อมั่นในตนเอง
เชื่อมั่นต่อชีวิตที่ดำรงอยู่ หนังสือเด็กที่ดีไม่เพียงแต่ทำเรื่องที่ยากให้ง่ายลง
หรือว่าทำเรื่องจืดชืดแห้งแล้งให้สนุกสนานมีชีวิตชีวาเท่านั้น
ยังจะต้องเพิ่มความตื่นตาตื่นใจ การผจญภัย การเรียนรู้สิ่งต่างๆที่เป็นประสบการณ์ลงไปในเนื้อเรื่องอีกด้วย
ไม่ว่าเรื่องนั้นๆ จะเป็นเรื่องจริงหรือเพ้อฝันก็ตาม
จะเห็นได้ว่าโบมได้มีความเข้าใจในจิตวิทยาของเด็ก
และได้พยายามเขียนเรื่องให้ตรงกับความต้องการของเด็กมากที่สุด
แม้ว่าในช่วงเวลาที่เขาแต่งนี้ เป็นปฏิกิริยาที่เกิดจากความตึงเครียดระหว่างความเจริญทางเทคโนโลยีกับชีวิตชนบท
ซึ่งเขาได้นำผู้อ่านให้หลีกหนีไปสู่โลกความฝันแห่งชนบท
และนั่นเองเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับชีวิตที่วุ่นวาย
สู่ห้วงเวลาของจินตนาการแห่งความคิดได้
และจากการที่ผู้จัดระดับหนังสือในอเมริกากล่าวไว้ว่า
พ่อมดมหัศจรรย์แห่งออซ เหมาะสำหรับเด็กที่มีอายุตั้งแต่
๘ ขวบขึ้นไป เราน่าที่จะรู้ว่า ความสนใจในการอ่าน
ของเด็ก ระดับนี้เป็นอย่างไร
เด็กวัยนี้อ่านหนังสือได้มากขึ้น ชอบอ่านนิทาน นิยาย
เช่น นิทานพื้นเมือง นิทานตำนาน และนิทานที่แต่งใหม่
ซึ่งมีเนื้อเรื่องดำเนินไปอย่างสนุกสนาน เนื้อเรื่องมีความซับซ้อนขึ้นบ้าง
มีตัวพระเอก นางเอก ตัวผู้ร้าย และตัวเทวดามาโปรด
(ผู้ที่ทำให้เองจบลงโดยดี) นอกจากนี้ยังสนใจเกี่ยวกับชีวิตจริงมากขึ้น
ชอบฟังหรือยากรู้เรื่องราวของเด็กอื่นในวัยเดียวกัน
มีความอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น ระยะนี้เด็กหญิงและเด็กชาย
เริ่มอ่านในสิ่งที่ตนเองสนใจ ซึ่งไม่เหมือนกัน เด็กหญิงชอบอ่านเรื่องสนุกเกี่ยวกับนิยาย
เทพนิยาย นางฟ้า เทวดา ชอบเรื่องสวยๆงามๆ ชอบการแต่งตัว
การจัดบ้าน และการตกแต่งสิ่งต่างๆ เรื่องเกี่ยวกับตุ๊กตา
เรื่องฝันเฟื่องทั้งหลาย ส่วนเด็กผู้ชายชอบเรื่องผจญภัย
เรื่องโลดโผน ตื่นเต้น ลึกลับ นิยายวิทยาศาสตร์
การเดินทางไปอวกาศ เครื่องยนต์กลไก เช่น รถยนต์
เครื่องบิน
และข้อควรระวังในการเขียนเรื่องให้เด็กวัยนี้ คือ
ผู้อ่านมักจะเปรียบเทียบตัวเองกับตัวละครที่แต่งขึ้น
ผู้เขียนจึงจะต้องระมัดระวังในการเขียนบุคลิก และอุปนิสัยของตัวละครให้ดี
ต้องเขาใจจิตใจของเด็ก มีเหตุผลในการเขียน มีรายละเอียดเท่าที่จำเป็น
แม้ไม่มากแต่ต้องให้ถูกต้อง ถ้ามีข้อผิดพลาดให้ผู้อ่านจับได้
เด็กจะหยุดอ่านและหมดความเชื่อถือทันที ในระยะนี้จึงควรสร้างตัวละคร
ให้มีลักษณะโน้มน้าวจิตใจเด็ก เพื่อให้เกิดเจตคติที่ดี
มีความเมตตากรุณา กล้าหาญ ฝ่าฟันอุปสรรค และแก้ไขปัญหาต่างๆ
ได้ด้วยความอดทน มานะบากบั่น ไม่ย่อท้อ กล้าผจญภัยเพื่อปราบศัตรู
เอาชนะอุปสรรคต่างๆได้ การกระทำแบบพระเอกซึ่งมีคุณธรรม
มีความเป็นวีรบุรุษ เป็นสิ่งที่ควรเน้นมาก เพราะเมื่อเด็กอ่านแล้ว
เด็กจึงอยากที่จะเก่ง อยากเป็นดังเช่นพระเอก นางเอกบ้าง
จึงจะต้องระมัดระวังในการสร้าง วีรบุรุษ วีรสตรีในเรื่องที่ดี
เพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่เด็ก และมีมโนคติที่ดีในการดำเนินชีวิตได้
ดังนั้น ผู้แต่งจึงควรที่จะมี จุดมุ่งหมายในการแต่งเรื่องสำหรับเด็ก
ที่ดี เพื่อที่เด็กจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการอ่าน
และเป็นการเสริมสร้างทัศนะคติที่ดี
๑.ช่วยเด็กได้รับความบันเทิง สนุกสนานเพลิดเพลิน
สนองความต้องการของเด็ก
๒. ช่วยสร้างความคิดคำนึง และความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก
๓. ช่วยพัฒนาการเรียนรู้ด้านภาษาของเด็ก ให้เจริญงอกงาม
เพราะเด็กยิ่งอ่านมาก ยิ่งมีความแตกฉานในด้านภาษา
๔. ช่วยปลูกฝังคุณธรรม เจตคติ และแบบอย่างอันน่าพึงปรารถนาให้แก่เด็ก
โดยที่คุณธรรมจะแฝงอยู่ในเรื่องราวที่สนุกสนาน
๕. ช่วยให้เด็กรู้จักเลือกอ่านหนังสือ มีนิสัยรักการอ่าน
ต่อไปในภายภาคหน้า เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ได้
๖. ช่วยทดแทนความรู้สึกของเด็กที่ขาดหายไป เช่น
ขาดความรัก ความว้าเหว่ มีปมด้อย หนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้
จะสามารถช่วยปลอบประโลมจิตใจของเด็ก และเป็นเพื่อนกับเด็กได้ดีทีเดียว
๗. ช่วยให้เด็กอ่านหนังสือ ที่มีเนื้อหาสาระ เหมาะสมกับวัย
เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กหันไปอ่าน และสนใจเรื่องของผู้ใหญ่เร็วกว่าวัย
อันจะเป็นสิ่งที่ชักนำให้เด็ก ประพฤติตนในสิ่งที่ไม่สมควร
และเมื่อมีจุดมุ่งหมายในการแต่งเรื่องสำหรับเด็กที่ดี
โดยที่ผู้เขียนได้กลั่นกรองออกมาจากหัวใจ และได้ปลูกฝังคุณธรรม
ความดี สอดแทรกเนื้อหาสระไว้ในเรื่องแล้ว
เด็กจะได้อะไรจากการอ่านหนังสือที่เด็กชอบ ซึ่งนับว่ามีคุณค่าต่อเด็กหลายประการ
เช่น
๑. ให้เด็กได้แก้ปัญหาเมื่อนำตนเองเข้าไปเป็นตัวละครในเรื่อง
๒. ให้เด็กได้ทราบถึงความเป็นจริงในโลกรอบๆตัวเด็ก
๓. ให้เด็กได้มีประสบการณ์กว้างขวาง และมีพัฒนาการที่ก้าวหน้า
รู้จักค้นหาความหมายต่างๆของชีวิต
๔. เปิดโอกาสให้เด็กได้หัวเราะ และมีจินตนาการร่วมกัน
๕. ช่วยให้เด็กได้ตัดสินใจว่าเป็นสิ่งที่สังคมของเขายอมรับ
จะเห็นได้ว่าทั้ง
จุดมุ่งหมายในการแต่ง และเด็กจะได้อะไรจากการอ่านหนังสือที่เด็กชอบ
นั้น โบมได้พยายามทำให้ออกมาอย่างดีที่สุด
โดยเราจะวิเคราห์ลงไปใน เนื้อหา ของเรื่องว่าแสดงออกมาในแง่ไหนบ้าง
เช่น การทดแทนความรู้สึกของเด็กที่ขาดหายไปนั้น
เริ่มจาก
การที่โดโรธีเป็นเด็กกำพร้า ซี่งลุงกับป้ารับมาเลี้ยงไว้
แม้จะเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักใคร่ แต่สภาพบ้านอันยากจน
แห้งแล้ง ไม่สดใส บรรยายรอบตัวเป็นทุ่งหญ้ากว้างสีเทาหม่นทั่วทุกด้าน
ไม่มีแม้แต่ต้นไม้ที่จะขึ้นได้เพราะความร้อนแรงของดวงตะวันที่แผดเผา
เพื่อนบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้ๆก็ไม่มีในภูมิภาคอันราบเรียบแผ่ไปไกลจนจบขอบฟ้าทั่วทุกทิศ
ป้าของเธอก็ไม่ค่อยสดใสนัก และลุงของเธอก็ไม่เคยหัวเราะ
ไม่รู้จักว่าความรื่นเริงคืออะไร เนื่องจากต้องทำงานหนัก
และลุงก็เป็นคนเคร่งขรึมไม่ค่อยพูด ซึ่งโดโรธีก็เกือบจะเป็นเช่นนั้น
ถ้าเธอไม่มีโตโต้ สุนัขแสนรู้ที่ช่วยทำให้เธอหัวเราะได้
โดโรธีเล่นกับมัน และก็รักมันมาก นี่ก็เป็นการชดเชย
ให้เธอพ้นจากการกลายเป็นสีเทาหม่นเหมือนกับสิ่งรอบตัวอื่นๆ
ดังนั้นเมื่อพายุไซโคลนมา แล้วได้พัดหอบเธอกับสุนัขให้ไปตกในดินแดนอันห่างไกล
ท่ามกลางภูมิประเทศที่สวยงามนั้นมีทุ่งหญ้าสีเขียว
ต้นไม้ ดอกไม้ นก ลำธาร อยู่รายรอบ สร้างความชื่นใจให้แก่โดโรธีเป็นอย่างมาก
ซึ่งเธอเคยอยู่แต่ท้องทุ่งที่หม่นหมองมานานแสนนาน
นี่ก็แสดงให้เห็นว่าผู้แต่งก็ได้สร้างเรื่องให้มีสิ่งที่สวยงามเข้ามาหล่อเลี้ยงจิตใจของเด็กน้อยให้ไปสู่อีกโลกที่ดีกว่า
แม้ว่าในชีวิตจริงจะไม่เป็นเช่นนั้นก็ตาม เพื่อเป็นการชดเชยสิ่งที่ขาดหายไป
โดยเมื่อมาถึงดินแดนมหัศจรรย์นี้ เธอได้เป็นเสมือนคนสำคัญเนื่องจากบ้านของเธอได้ตกมาทับแม่มดชั่วร้ายแห่งทิศตะวันออกตาย
ทำให้พวกมันชกินส์ที่ถูกจับมาเป็นทาสเป็นอิสระ ทำเห็นว่าเธอได้มีความสำคัญต่อดินแดนที่มาถึง
และแสดงให้เห็นถึงความชั่วของแม่มด ทุกคนจึงยกย่องเธออย่างมาก
แม่มดแห่งทิศเหนือที่เป็นแม่มดที่ดี จึงให้รองเท้าของแม่มดแห่งทิศตะวันออกแก่เธอ
แต่ถึงอย่างไรเธอก็ยังต้องการกลับบ้านที่แคนซัสมากกว่า
แม่มดจึงแนะนำให้เธอไปหาพ่อมดแห่งเมืองออซ เพื่อที่จะส่งเธอกลับบ้านที่แคนซัสได้
"เขาเป็นชายที่ดีหรือเปล่า" เด็กหญิงถามอย่างกังวล
"เขาเป็นพ่อมดที่ดี ทว่าจะเป็นผู้ชายหรือเปล่า
ฉันก็บอกไม่ได้ เพราะไม่เคยเห็นเลย"
"ฉันจะไปที่นั่นได้อย่างไร" โดโรธีถาม
"เธอต้องเดินไป ทางไกลมาก ผ่านดินแดนที่สะดวก
บางทีก็มืดน่ากลัว อย่างไรก็ตาม ฉันจะใช้เวทมนตร์วิชาที่ฉันรู้ทั้งหมดปกป้องเธอจากอันตราย"
เธอจะไปกลับฉันได้ไหม" เด็กหญิงร้องขอ เธอเริ่มถือว่า
มีหญิงแก่ร่างเล็กนี้เป็นมิตรแต่เพียงผู้เดียว
"ไม่ได้หรอกฉันทำอย่างนั้นไม่ได้" เธอตอบ
"แต่ฉันจะจูบเธอ แล้วก็จะไม่มีใครกล้าทำอันตรายคนที่แม่มดแห่งทิศเหนือจูบได้เลย"
เธอเข้ามาใกล้โดโรธี แล้วก็จูบที่หน้าผากอย่างแผ่วเบา
โดโรธีมารู้ทีหลังว่า ตรงที่ริมฝีปากเธอสัมผัสนั้นเป็นรอยกลมใสแจ๋วติดอยู่
"ทางไปเมืองมรกตปูด้วยอิฐสีเหลือง
" แม่มดบอก
"ฉะนั้นเธอจะไม่หลงทาง เมื่อเธอพบออซ อย่ากลัวเขา
แต่จงบอกเรื่องราวของเธอ แล้วขอให้เขาช่วย
ลาก่อน
ที่รักของฉัน"
จะเห็นได้ว่าจากข้อความที่ โดโรธีสนทนากับแม่มดทางทิศเหนือเกี่ยวกับพ่อมดออซนี้
การที่โดโรธีถามว่า "เขาเป็นชายที่ดีหรือเปล่า"
แสดงให้เห็นว่าหนูน้อยมีความกลัวในตังพ่อมดออซ คนที่เธอจะไปขอความช่วยเหลือ
ว่าเขาจะเป็นคนอย่างไร และที่แม่มดบอกว่า "เขาเป็นพ่อมดที่ดี
ทว่าจะเป็นผู้ชายหรือเปล่า ฉันก็บอกไม่ได้ เพราะไม่เคยเห็นเลย"
แสดงให้เห็นว่าแม่มดแห่งทิศเหนือนั้นก็ไม่เคยเห็นออซมาก่อนรู้จักก็แต่เพียงคำที่เขาเล่าและมีความเชื่อสืบต่อกันมาเท่านั้น
ไม่รู้ว่ารูปร่างน่าตาเป็นอย่างไร นี่ก็นับว่าเป็นการบอกนัยยะบางอย่างถึงคนที่เราจะไปขอความช่วยเหลือ
ว่าบางทีเขาก็อาจจะดี หรือไม่ดีสมกับคำเล่าลือก็ได้
(น่าจะคล้ายกับพระเจ้าในศาสนาคริสต์ที่ต่างก็ไม่เคยมีใครพบเห็น
มีเพียงแต่คำเล่าลือมานานาแสนนาน แต่ก็มีผู้คนที่เชื่อและศรัทธามากมาย
ที่ต่างเฝ้าสรรเสริญ วิงวอน ร้องของ และอธิษฐาน
ให้ช่วยสมหวังในความปรารถนา)
และการที่โดโรธีได้ขอร้องให้แม่มดแห่งทิศเหนือเดินทางไปกับตนด้วยนั้น
ก็แสดงให้เห็นถึงความต้องการของเด็กๆว่า ยามต้องตกอยู่ในห้วงของอันตราย
ต้องการที่จะมีคนเป็นเพื่อน ที่จะดูแลให้ความคุมครองได้
แต่แม่มดก็ไม่ได้ไปกับเธอ เพียงแต่ให้รอยจูบที่จะสามารถคุมครองติดตัวไป
ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเพียงรอยจูบที่ใสแจ๋ว แต่ก็สามารถแสดงออกถึงความเป็นนามธรรม
เธอจะมีผู้คุมครองตลอดเวลาการเดินทาง ก็นับว่าเป็นเครื่องที่ยืนยันความรักและมิตรภาพได้ดี
แต่ก็ต้องทำสิ่งนั้นด้วยตัวของตัวเอง โดยแม่มดได้ชี้ทางที่ที่จะไปยังเมืองมรกตให้
นั้นก็แสดงว่าถ้าผู้ใหญ่บอกสิ่งไหนให้เด็กด้วยความหวังดีและประสบการณ์ที่มีมากกว่า
ถ้าเราปฏิบัติตามก็จะพบหนทางที่ถูกที่ควรในการดำเนินชีวิตได้
และอีกประการคือผู้แต่งได้แต่งให้แม่มดมีทั้งดีทั้งร้าย
และไม่ได้ใช้เทวดานางฟ้าในเรื่องนี้เลย ทำให้เราสามารถเรียนรู้ได้ว่าคนเรานั้นก็มีทั้งดีและชั่ว
ไม่จำเป็นต้องชั่วเสมอไป และดีเสมอไป
และระหว่างการเดินทางนั้น เธอก็ได้พบเพื่อนที่แปลกประหลาดก็คือ
หุ่นไล่กา ที่ติดอยู่กับเสา และโดโรธียกมันลงมา
นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความมีนำใจและมิตรภาพก็ได้เริ่มก่อตัวขึ้นมา
โดยหุ่นไล่คิดว่าตนเองไม่มีสมองเพราะถูกยัดด้วยฟางจึงจะไปขอให้พ่อมดออซให้มันสมองแกมัน
และมิตรภาพก็เริ่มขึ้น
ต่อมาโดโรธี และโตโต้ หุ่นไล่กา ก็ได้เดินทางผ่านมาพบชายตัดไม้ที่สร้างมาจากดีบุกเข้า
ซึ่งต่างก็ช่วยกันใช้น้ำมันหยอดจน ชายตัดไม้ดีบุกสามารถเคลื่อนไหวได้
และก็จะร่วมเดินทางไปหาพ่อมดออซด้วย เพื่อขอให้ใสหัวใจให้
เพราะเขาคิดว่าเขาไม่มีหัวใจ และมิตรภาพก็เริ่มขึ้น
ต่อมาโดโรธี โตโต้ หุ่นไล่กา ชายตัดไม้ดีบุก ก็ได้เดินทางมาพบกับ
สิงโต ที่ดูเหมือนว่าจะมีความดุร้าย แต่ทว่ากลับอ่อนแอ
และขี้ขลาด จึงอยากที่จะร่วมเดินทางไปพบออซ เพื่อที่จะขอความกล้าหาญให้
และมิตรภาพก็เริ่มขึ้น
ระหว่างการเดินทางได้ผ่านการผจญอย่างมากมาย แต่ทุกคนไม่ก็ไม่รู้เลยว่าได้ทำในสิ่งที่ตนเองคิดว่าไม่มีให้เกิดขึ้นอย่างมากมาย
เช่น
ครั้งหนึ่งชายตัดไม้ดีบุก ก้าวไปเหยียบตัวด้วงที่คลานอยู่ตามถนน
ทำให้ตัวด้วงตาย ชายตัดไม้ดีบุกเศร้าโศก และเสียใจมาก
เพราะมันระงังอยู่เสมอที่จะไม่ทำร้ายสิ่งมีชีวิตใดๆ
และมันก็ร้องไห้ จนทำให้น้ำตาตกตามหน้า และทำให้รอยข้อต่อกรามเป็นสนิม
จนพูดไม่ได้ โดโรธี จึงต้องคอยหยอดน้ำมันให้ และเมื่อมันเห็นมดเล็กไต่มามันก็จะเดินข้ามไป
เพื่อที่มดจะได้ไม่เป็นอันตราย เพราะชายดีบุกรู้ว่าตนเองไม่มีหัวใจ
ดังนั้นมันจึงพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่โหดร้ายและไร้ความปรานีต่อสิ่งใด
แต่บางครั้งมันก็ได้ฆ่าสัตว์อื่น เพื่อที่จะคุมครองคนที่อ่อนแอกว่า
และปกป้องโดโรธีกับเพื่อนๆไว้
หุ่นไล่กานั้นคิดว่าตนเองไม่มีสมอง แต่ก็ได้แสดงความฉลาดออกมาหลายต่อหลายครั้ง
ระหว่างการเดินทาง เช่นเมื่อเดินทางมาถึงคูที่กว้างและลึกมากไม่สามารถผ่านไปได้
ทุกคนต่างคิดไม่ออกว่าจะข้ามไปได้อย่างไร แต่หุ่นไล่กาคิดได้
"เราบินไม่ได้แน่ล่ะ แล้วเราก็ปีนลงไปในคูใหญ่ไม่ได้เช่นกัน
ดังนั้นถ้าเราไม่กระโดดข้าม เราก็ต้องหยุดกันอยู่ที่นี่แหละ"
"ฉันคิดว่าจะกระโดดข้ามได้
" สิงโตขี้ขลาดพูด
หลังจากที่ลองกะระยะอยู่ในใจ
"ถ้าอย่างนั้นก็ไม่เป็นไร
" หุ่นไล่กาตอบ
"เพราะเธอแบกพวกเราขึ้นหลังทั้งหมดได้นี่
ไปทีละคน"
"เอาละ ฉันจะลองดู" สิงโตพูด "ใครจะไปก่อน"
"ฉันเอง" หุ่นไล่กาประกาศ "เพราะถ้าเธอกระโดดข้ามช่องนี้ไม่ได้
โดโรธีจะได้ไม่เสียชีวิต หรือชายตัดไม้ดีบุกจะได้ไม่บุบบี้กับหินข้างล่าง
ถ้าฉันขี่หลังเธอก็ไม่เป็นไร เพราถึงตกลงไปฉันก็ไม่บาดเจ็บเลย"
"ฉันเองกลัวตกลงไปจัง" สิงโตขี้ขลาดพูด
"แต่ฉันคิดว่าไม่มีอะไรนอกจากจะลองดู ขึ้นหลังฉันเถอะแล้วมาลองดูกัน"
นี่เองที่ชี้ให้เห็นว่า หุ่นไล่กาก็มีความฉลาด และสิงโตก็มีความกล้าหาญ
อยู่ในตัวของตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าพวกเขาเล่านั้นขาดความมั่นใจในตัวเอง
และต่างก็ช่างเป็นคนที่ถ่อมตน เพียงแต่เขาจะแสดงมันออกมาอย่างเผลอไผล
และไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งมันก็เป็นการกระทำที่เป็นไปโดยอัตโนมัติ
อีกประการที่ผู้แต่งได้นำเสนอคือ การช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอกว่า
โดยชายตัดไม้ดีบุกได้ฆ่าแมวป่าที่ไล่จะกัดหนู แต่เผอิญว่าหนูตัวนั้นเป็นราชินีแห่งหนู
จึงจะให้สิ่งตอบแทนในการช่วยเหลือครั้งนี้ โดยชายตัดไม้ดีบุกได้ขอร้องให้ช่วยเหลือสิงโตที่ถูกพิษของดอกปอปบี้และหลับอยู่ในทุ่งด้วยไม้นั้น
ซึ่งราชินีก็ได้ช่วยเหลือโดยบรรดาหนูตัวเล็กๆเหล่านั้น
แต่ว่าเมื่อรวมพลังและความสามัคคีก็สามารถที่จะช่วยเหลือสิงโตให้ออกมาจากดงของดอกปอปปี้ได้
ผู้แต่งได้ทำการล้อเรื่อง ราชสีห์กับหนูมาใช้ในการแต่งเรื่องนี้ด้วย
เมื่อสามารถผ่านดงดอกปอปปี้มาได้ก็ถึงเมืองมรกต
ที่เต็มไปด้วยสีเขียว และก่อนที่จะเข้าไปพบพ่อมดออซ
ก็ต้องใส่แว่นตา เพราะไม่เช่นนั้นความสว่างสุกใสของเมืองมรกต
จะทำให้ตาบอดได้ แต่เมื่อพบพ่อมดออซแล้ว กลับไม่ให้ความช่วยเหลือ
โดยที่จะต้องให้โดโรธีและเพื่อนๆ ไปทำลายแม่มดที่ชั่วร้ายแงดินแดนตะวันตกเสียก่อน
ถึงจะช่วยเหลือตามคำขอ นี่ก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของพ่อมดออซมากขึ้น
ว่าไม่ได้ดีอย่างที่คิด
และเมื่อต้องเดินทางไปทำลายแม่มดทางทิศตะวันออก
ก็ได้พบกับอุปสรรคต่างๆมากมายไม่ว่า จะเป็นฝูงหมาป่าเขี้ยวแหลม
ที่ชายตัดไม้ดีบุกได้สังหารเพื่อช่วยเพื่อนๆไว้ด้วยความจำเป็น,
ฝูงอีกาจอมจิกที่หุ่นไล่กาสามารถจัดการได้, ฝูงผึ้งซึ่งหุ่นไล่กาใช้ความฉลาดโดยการเอาฟางออกจากตัวและคลุม
โดโรธี โตโต้ และสิงโตไว้, พวกวินกีส์ที่ถูกสิงโตใช้ความกล้าหาญด้วยการขู่คำรามและวิ่งหนีไป,
แต่ก็พ่ายแพ้ให้แก่ฝูงลิงบินได้ จึงถูกจับตัวมายังเมืองของแม่มด
แต่โดโรธีก็สามารถทำลายแม่มดลงได้ด้วยความไม่ตั้งใจ
คือใช้นำสาดไปที่ตัวแม่มด ทำให้แม่มดชั่วร้ายแห่งทิศตะวันออกละลายในที่สุด
และการใช้น้ำชำระล้างความชั่วร้ายนั้น ก็น่าจะคล้ายกับความเชื่อของชาวตะวันออก
และทำให้ชาวเมืองวินกีส์ มีอิสระภาพจากแม่มดได้
ครั้นเมื่อได้เดินทางกลับไปทวงสัญญากับพ่อมดออซอีกครั้งที่เมืองมรกต
แต่ก็ต้องพบกับความเสียใจที่พ่อมดไม่สามารถช่วยเหลือได้
เพราะว่าเขาก็เป็นแค่คนธรรมดาเป็นแค่นักพากย์และนักบอลลูนที่เมืองโอมาฮา
และถูกลมพัดลอยมาตกเช่นเดียวกับโดโรธี เมื่อตกลงมาจากฟ้า
ท่ามกลางหมู่ผู้คน แล้วไม่ได้รับบาดเจ็บ ก็เลยคิดว่าเขาเป็นพ่อมดผู้ยิ่งใหญ่
แต่ความจริงแล้วเขาไม่ได้มีเวทมนตร์คาถาแต่อย่างใด
โดยเขาได้สั่งให้ผู้คนสร้างเมืองและวังขึ้นมา ท่ามกลางภูมิประเทศที่เขียวชอุ่มและงดงามมากจึงเรียกว่าเมืองมรกต
แต่เมืองมรกตก็ไม่ได้เป็นสีเขียวทั้งหมด เนื่องจากเมื่อเข้ามาในเมืองแล้วผู้คนต้องใสแว่นตาที่มีเลนส์สีเขียว
จึงทำให้เห็นเมืองเป็นสีเขียวกันทุกคนและเชื่อในความมหัศจรรย์ของพ่อมดออซมากยิ่งขึ้น
แต่สิ่งที่เขากลัวก็คือแม่มดทางทิศตะวันออกและแม่มดทางทิศตะวันตกที่ชั่วร้าย
จึงออกอุบายให้โดโรธีทำลายเสีย
และในที่สุดพ่อมดออซก็ยอมรับว่า เขาเป็นคนจอมปลอม
ไม่สามารถช่วยได้ แต่ทั้งหมดก็ไม่ยอมจะทวงสัญญาจากพ่อมดออซให้ได้
ทั้งหุ่นไล่กา ชายตัดไม้ดีบุก สิงโต พ่อมดออซก็ได้ใช้หลักจิตวิทยาที่จะทำให้เชื่อว่า
เขาได้ให้ สมอง หัวใจ และความกล้าหาญ แก่ทั้งสามไปแล้ว
โดยที่พ่อมดออซรู้ดีว่าเขาทั้งสามนั้น ต่างก็มีสิ่งที่ต้องการอยู่ในตัวแล้ว
เพียงแต่ไม่ล่วงรู้ และไม่มีความมั่นใจในตัวเองก็เท่านั้นเอง
ซึ่งสิ่งนั้นเป็นสิ่งนามธรรมที่แฝงอยู่ในตัว ออซจึงเพียงแต่ทำสิ่งที่พวกเขาต้องการ
ให้ออกมาในรูปของรูปธรรม และพวกเขาก็เต็มใจจะเชื่อ
และได้ในสิ่งที่ต้องการเหล่านั้น ออซจึงคิดว่า "ฉันจะไม่เป็นตัวจอมปลอมอย่างนี้ได้อย่างไร
"
แต่สัญญาของ โดโรธีที่อยากกลับบ้านที่แคนซัสนั้น
เหลือกำลังกว่าที่ออซจะใช้หลักจิตวิทยาช่วยได้ จึงคิดที่จะหาวิธีพาโดโรธีกลับบ้านด้วยการใช้ลูกบอลลูน
เช่นเดียวกับที่เขามาในตอนแรก และพ่อมดออซก็จะออกเดินทางไปพร้อมกันโดโรธีด้วย
เพราะเบื่อหน่ายชีวิตที่อยู่แต่ในวังนี้เต็มทนแล้ว
และแต่งตั้งให้หุ่นไล่กาช่วยปกครองแทน แต่ครั้นเมื่อบอลลูนกำลังจะลอยโดโรธีหาโตโต้ไม่พบ
ทำให้บอลลูนออกไปก่อนโดยที่เธอยังไม่ได้ขึ้น ทำให้เธอไม่ได้กลับบ้านพร้อมพ่อมดออซอีก
และการที่โดโรธีไม่ยอมไปทั้งๆที่ไม่โตโต้ ก็แสดงให้เห็นถึงความรัก
ความผูกพันที่ทั้งสองมีให้แก่กัน มาตั้งแต่วัยเยาว์
แต่โดโรธีก็เสียใจที่ไม่ได้กลับบ้าน จึงพยายามหาหนทางใหม่
โดยการออกเดินทางไปหาแม่มดกลินดา ที่เป็นแม่มดที่ดีแห่งทิศใต้
เพื่อขอให้ช่วยพากลับบ้าน โดโรธี และเหล่าสหายจึงต้องออกไปผจญภัยอีกครั้ง
ซึ่งต้องผ่าอุปสรรคต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะตนไม้สู้โจมตี,
ดินแดนตุ๊กตาดินเผา, และผ่านป่า (ซึ่งดินแดนนี้เองที่สิงโตได้แสดงความกล้าหาญและสัญญาว่าเมื่อช่วยโดโรธีเสร็จจะกลับมาปกครองยังดินแดนนี้),และดินแดนของพวกควอดลิงส์
และเมื่อถึงดินแดนของแม่มดกลินดา แม่มดก็สามารถช่วยโดโรธีให้กลับบ้านได้โดยการใช้รองเท้าสีเงินของแม่มดตะวันตก
แต่โดโรธีก็ไม่ได้ล่วงรู้ความสามารถวิเศษของรองเท้าคู่นี้มาก่อน
ดังนั้นเธอจึงกล่าวอำลา เพื่อนๆของเธอ หุ่นไล่กาผู้ซึ่งมีสมอง
และสติปัญญา ชายตัดไม้ดีบุกผู้ซึ่งมีหัวใจอันดีงาม
และสิงโตผู้ซึ่งมีความกล้าหาญ สมเป็นราชาแห่งป่า
เมืองมรกต และดินแดนที่สวยงาม มิตรภาพ การผจญภัยที่น่าตื่นเต้น
สิjงเหล่านี้คงจะอยู่ในความทรงจำของเธอตลอดไป แล้วเธอก็ได้อธิษฐานว่า
"พาฉันกลับบ้านไปหาป่าเอ็ม"
จากการวิเคราะห์เรื่องราวและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาทั้งหมด
เราลองมาวิเคราะห์ถึง ลักษณะของตัวละคร กันบ้าง
ตัวละครที่ใช้ในเรื่องนี้นั้นมีทั้งมนุษย์ สิ่งของ
และสัตว์ แต่จะต้องมีความคิดและการกระทำเหมือนมนุษย์
ตัวละครที่เป็นมนุษย์ก็สามารถแยกได้หลายประเภท ได้แก่
มนุษย์ธรรมดา (โดโรธี, ป้าเอ็ม, ลุงเฮนรี่, พ่อมดออซ)
มนุษย์ที่มีเวทมนตร์คาถา (แม่มดแห่งทิศเหนือ, แม่มดแห่งทิศใต้,
แม่มดแห่งทิศตะวันออก, แม่มดแห่งทิศตะวันตก)
มนุษย์ที่มีร่างกายไม่สมส่วน (ชาวเมืองมัชกินส์,
ชาวเมืองมรกต, ชาวเมืองวินกีส์, พวกควอดลิงส์)
ตัวลครที่เป็นสิ่งของ ได้แก่ หุ่นไล่กา, ชายตัดไม้ดีบุก,
ตุ๊กตากระเบื้องเคลือบ
ตัวละครที่เป็นสัตว์ได้แก่ โตโต้, สิงโต, ราชินีหนูนา,
นกกระยาง, ฝูงลิงติดปีก, และพวกสัตว์ต่างๆ
ในที่นี้ขอกล่าวถึงตัวละครที่มีความสำคัญในเรื่อง
โดโรธี - เป็นเด็กหญิงที่น่ารัก เป็นคนที่มีน้ำใจ
มีความเมตากรุณา อ่อนโยน สุภาพเรียบร้อย รักเพื่อน
โตโต้ - เป็นสุนัขของโดโรธี มีความน่ารัก ฉลาดแสนรู้
หุ่นไล่กา - เป็นผู้ที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่โอ้อวด
ทั้งที่มีความฉลาดอยู่ในตัว มีไหวพริบฉับพลัน สามรถแกไขสถานการณ์ต่างๆได้ดี
รักเพื่อน
ชายตัดไม้ดีบุก - ผู้ซึ่งมีมีหัวใจที่น่ารัก อยู่ในตัวเองแต่ไม่ล่วงรู้
อ่อนน้อมถ่อมตนมีความอ่อนไหว หัวใจเปราะบาง ร้องไห้ง่าย
แต่เมื่อยามขับขัน ก็สามารถมีหัวใจที่เด็ดเดี่ยว
รักเพื่อน
สิงโต - ผู้ที่คิดว่าต้นเองขี้ขลาดตลอดเวลา ไม่มีความกล้าหาญ
แต่เมื่อถึงเวลาความกล้าหาญก็สามารถทำให้ชนะอุปสรรคได้
รักเพื่อน
พ่อมดออซ - ชายที่เสแสร้งว่ามีเวทมนตร์คาถา แท้จริงเป็นเพียงมนุษย์ธรรมดา
ที่ฉลาดในการใช้หลักจิตวิทยา ปกครองคนและเป็นนักพูดที่โน้มน้าวจิตใจคนได้เก่ง
ทำให้เขากลายเป็นคนหลวกลวง เป็นคนจอมปลอม
ต่อมาจะเป็นการวิเคราะห์
ฉาก ในเนื้อเรื่องของเรื่องนี้
ฉากจะต้องมีความเกี่ยวข้องกับบรรยากาศของเรื่องที่เขียนจอยู่มาก
ทั้งยังมีผลต่อพฤติการณ์ของตัวละครด้วย
เริ่มต้นที่ แคนซัสที่ที่โดโรธี จากมานั้น ผู้แต่งได้เขียนบรรยายไว้ว่าเป็นพื้นที่ที่
ไม่มีความสดใสเสียเลย มองไปทางไหนก็เห็นแต่ท้องทุ่งสีเทาหม่นไปทั่ว
ไม่มีพื้นที่สีเขียวของต้นไม้ปรากฎให้เห็น เป็นดินแดนที่ราบเรียบ
มีแต่รอยแตกระแหง และมีแสงอาทิตย์ที่ร้อนแรงมาก
ทำให้เป็นพื้นที่ที่ไม่น่าอยู่อาศัยนัก เลยทำให้ส่งผลต่อจิตใจของผู้ที่อยู่อาศัย
คือ ป้าเอ็ม ลุงเฮนรี่ ที่มีชีวิตหม่นหมอง ไม่มีความร่าเริงในชีวิต
โดโรธีก็เกือบจะเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ถ้าเธอไม่มีสัตว์เลี้ยงแสนรู้
โตโต้เอาไว้คอยเป็นเพื่อนเล่น
จากฉากที่หม่นหมอง ไม่สวยงามสดใส ดังกล่าวนี้ ทำให้ผู้แต่ง
เขียนโลกในดินแดนที่ที่ห่างไกล ให้ออกมาเป็นดินแดนที่สวยงาม
เหมือนอยู่ในความเฟ้อฝัน เป็นโลกที่สดใส เต็มเปี่ยมด้วยความมีชีวิตชีวา
มีความอุดมสมบูรณ์ และในดินแดนนี้ก็มีหลายพื้นที่
ให้โดโรธีและเพื่อนๆได้เดินทางไปผจญภัยด้วยกัน ไม่ว่าจะ
เป็นที่เมืองมันชกินส์ ที่มีความสวยงาม อุดมสมบูรณ์
ท้องทุ่งเต็มไปด้วยรวงข้าว พืชผักเต็มไปหมด ชาวเมืองที่นี่ชอบใช้สีน้ำเงินอย่างมาก
สู่ถนนอิฐสีเหลือง ผ่านไร่ข้าวโพดที่ซึ่งพบหุ่นไล่กา
ผ่านแมกไม้ระหว่างทางที่ซึ่งพบชายตัดไม้ดีบุก ผ่านป่าทึบที่ซี่งพบสิงโตขี้ขลาด
ผ่านหุบเหวสูง ผ่านแม่น้ำ ผ่านทุ่งดอกปอปปี้ สู่เมืองมรกต
ที่บ้านเมืองล้วนแล้วแต่มีสีเขียว และเส้นทางการผจญภัยต่างสู่เมืองวินกีส์ที่บ้านเมืองมีสีเหลือง
สู่ดินแดนแห่งทิศใต้ ที่เต็มไปด้วยป่า ดินแดนที่บ้านเมืองและผู้คนล้วนเป็นเครื่องเคลือบที่บอบบาง
ภูเขาก้อนหิน จนกระทั่งถึง ดินแดนของพวกควอดลิงส์ที่บ้านเมืองเป็นสีแดง
อันเป็นดินแดนสุดท้ายที่โดโรธีจะได้พบแม่มดกลินดา
ผู้ซึ่งสามารถส่งเธอให้กลับบ้านที่แคนซัสได้
จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่ตัวละคร นั้นย่อมต้องเกิดขึ้นในเวลาและสถานที่
อันเหมาะสมกับเหตุการณ์นั้นๆ และการสร้างฉากอาจอาศัยวิธีการหลายอย่าง
เช่น คำบรรยายของผู้เขียน การใช้ภาษาถิ่นของตัวละคร
หรือการกล่าวถึงประเพณีของท้องถิ่น เพื่อให้ทราบว่าเรื่องนั้นๆ
เกิดขึ้นในสมัยใดและที่ไหน หรืออาจจะใช้ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ก็ได้
ซึ่งความบันดาลใจในการแต่งเรื่องของโบมนั้น ก็คงจะมาจากสภาพแวดล้อมทั่วไปของอเมริกา
โดยเริ่มเรื่องด้วยการบรรยายฉากที่มีพายุไซโคลนเกิดขึ้น
และนั้นก็เป็นเหตุการณ์จริงที่เกิดที่แคนซัสเมื่อ
ปีค.ศ. ๑๘๙๓ และพายุก็ได้ทำลายบ้านเมืองให้ย่อยยับไป
๒ เมือง ทำให้ผู้แต่งได้ใช้เหตุการณ์นี้เป็นเนื้อหาของเขาด้วย
++
Top ++
จากการที่ได้ทำความรู้จักกับ
พ่อมดมหัศจรรย์แห่งออซ (The Wonderful of Oz) แล้ว
จะสามารถทำให้เรารับรู้ถึงแง่มุมต่างๆของความเป็นออซกันมากขึ้น
เมื่อใดก็ตามที่เราต้องการหลีกหีนจากความวุ่นวาย
และไม่สมหวัง ไม่สามารถทำบางสิ่งบางอย่างได้ในชีวิตจริง
เนื่องมาจากสภาพแวดล้อม และสังคมรอบตัว เช่นหนูน้อยโดโรธี
ที่สภาพแวดล้อมของบ้านไม่น่าอยู่ ไม่มีความสดใสร่าเริง
ความแปลกใหม่ให้กับชีวิต ที่ต้องการเรียนรู้สิ่งต่างๆ
และบัดนั้น โลกแห่งจินตนาการก็พร้อมที่จะรองรับ
เปิดให้เราได้เข้าไปสัมผัส โลกแห่งดินแดนมหัศจรรย์ของพ่อมดออซ
ก็เป็นดินแดนหนึ่งที่พร้อมจะเชื้อเชิญ แด่หัวใจที่เรียกร้องจะสัมผัส
เพื่อที่จะเติมเต็มความฝันของผู้ที่ยากไร้ให้เป็นจริง
สู่ดินแดนของความสวยงามมหัศจรรย์ มิตรภาพ การผจญภัย
และการที่จะสามารถชนะอุปสรรคที่มีอยู่ให้ลุล่วงไป
และการตามหาสิ่งที่เราปรารถนา โดยที่สิ่งนั้นต่างก็มีอยู่ในตัวเอง
เพียงแต่รอการค้นพบ และนำมาใช้ประโยชน์เท่านั้น
จากเนื้อเรื่องนั้น สิ่งที่ปรารถนาของแต่ละบุคคล
ผู้เขียนได้นำเสนอรวมกันเป็นความปรารถนาที่มนุษย์ทุกคนต้องการ
คือ การมีสมองเพื่อจะมีความคิดที่ฉลาด การมีหัวใจเพื่อที่จะมีอารมณ์ความรู้สึก
มีความรักที่เต็มเปี่ยม การมีความกล้าหาญเพื่อที่จะกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง
และสุดท้าย การได้กลับบ้านเพื่อไปสู่ครอบครัวที่อบอุ่นรออยู่ไม่ว่าเราจะเจอปัญหาอย่างไรก็ตาม
เพราะ "ไม่มีที่ไหนเหมือนบ้าน"
และเมื่อหนูน้อย โดโรธีได้จากดินแดนมหัศจรรย์แห่งออซ
เพื่อกลับสู่บ้านที่แคนซัสนั้น ก็ทำให้เราเห็นว่าแม้โลกแห่งความฝันจินตนาการที่สวยงามยังต้องกลับ
มาสู่โลกแห่งชีวิตจริง ที่ต้องใช้ชีวิตจริงๆอยู่กับมัน
มนุษย์เราก็เช่นกันทุกคนก็มีสิทธิ์ที่จะฝัน แต่เราก็เราต้องกลับมาเผชิญกับความเป็นจริงอีกครั้ง
แม้จะไม่สวยงามเท่าแต่เราก็ต้องอยู่กับมันให้ได้
แต่สิ่งนั้นก็ยังคงอยู่ในซอกหัวใจของผู้ที่มีฝัน
และหัวใจอันน่ารักที่จะทนุถนอมไว้ในความทรงจำที่สวยงาม
เพื่อเป็นอาหารที่มาหล่อเลี้ยงจิตใจ ไม่ให้แห้งเหือด
ยามเมื่อเราอ่อนแอ ท้อแท้ สิ้นหวัง และต้องการกำลังใจ
ให้พร้อมที่จะสู้ใหม่ กับโลกของความเป็นจริง ในสภาพสังคมที่สับสนวุ่นวายที่เราต้องใช้ชีวิต
และดำรงอยู่ให้ได้
นั่นคือ สิ่งที่ทำให้แสงอาทิตย์สว่างในพายุ
และขอจบลงด้วย ตอนหนึ่งในภาพยนตร์ เรื่อง The Wizard
of Oz ที่มีจูดี้ การ์แลนด์ แสดงเป็น หนูน้อยโดโรธี
" ที่ๆไม่มีปัญหา แกคิดว่ามีที่เช่นนั้นไหม
โตโต้ คงจะมีหรอกนะ ต้องเป็นที่ๆ ไปโดยเรือหรือรถไฟไม่ได้
ต้องเป็นที่ๆไกลมากๆ หลังดวงจันทร์
ปราศจากฝน "
ดังเสียงเพลงที่เธอร้อง
" ที่แห่งหนึ่งที่ปลายสายรุ้ง บนท้องฟ้า
ที่ๆฉันเคยได้ยินจากเพลงกล่อม
ที่แห่งหนึ่งที่สายรุ้ง บนฟ้าสีคราม
ที่ซึ่งความฝันเป็นจริงเสมอ
ฉันหวังว่าสักวันหนึ่ง
ฉันจะตื่นขึ้นมา บนฟากฟ้าพร้อมหมู่ดาว
ที่ซึ่งปัญหาจะละลายหายไป
ลอยออกไปจากปล่องไฟ
ที่ซึ่งเธอจะพบฉันได้
ที่แห่งหนึ่งที่ปลายสายรุ้ง หมู่นกบิน
บินไปเหนือสายรุ้ง
แล้วทำไมฉันจะทำอย่างนั้นไม่ได้
ถ้านกน้อยเหล่านั้น บินไปบนสายรุ้ง
แล้วทำไมฉันจะทำบ้างไม่ได้ "
|
เอกสารอ้างอิง
-
โบม, ไลแมน แฟรงก์. พ่อมดมหัศจรรย์แห่งออซ. พิมพ์ที่เรือนปัญญา.
พิมพ์ครั้งที่ ๕. กรุงเทพมหานคร,๒๕๔๓ แปลโดย ชาญวิทย์
เกษตรศิริ. นวนิยายอเมริกัน. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ,
ผู้แปล.
- วิริยะ สิงหะ.การสร้างสรรค์วรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน.
พิมพ์ที่สุริยสาส์น.พิมพ์ครั้งที่๑. กรุงเทพมหานคร,๒๕๓๗
- จินตนา ใบกาซูยี. เทคนิคการเขียนหนังสือสำหรับเด็ก.
พิมพ์ที่คุรุสภา. พิมพ์ครั้งที่๑.กรุงเทพมหานคร,
๒๕๔๒
- ร.ศ.ทวีศักดิ์ ญาณประทีป. การเขียนวรรณกรรมสำหรับเด็ก.
สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง. พิมพ์ครั้งที่๓.
กรุงเทพมหานคร, ๒๕๓๗
- Langley, Noel. The Wizard of Oz. American cinema
films
|