+
+ + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + +
+ + + + + + + + +
บทสรุป
ในการสร้างสรรค์ศิลปนิพนธ์ของข้าพเจ้าชุดนี้
นับว่าเป็นความสำเร็จที่ทุกคนปรารถนา และข้าพเจ้าก็มีความรู้สึกพอใจต่อกระบวนการสร้างสรรค์นั้นๆด้วย
ไม่ว่าจะด้านพื้นฐานความคิด อิทธิพล แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์
ขั้นตอนการประมวลความคิด องค์ประกอบศิลป์ ทัศนธาตุต่างๆ
ตลอดจนเทคนิควิธีการ ทั้งหมดนี้ทำเพื่อรองรับรูปแบบและแนวความคิด
จากจินตนาการภายใน ให้แสดงออกมาเป็นรูปธรรมมากที่สุด เพื่อที่จะสื่อสารอารมณ์ความรู้สึก
แนวความคิดของผู้สร้าง ที่ต้องการถ่ายทอดให้ผู้อื่นรับรู้
ซึ่งนอกจากจะเป็นการกลมเกลาจิตของผู้สร้างแล้ว ก็หวังว่าผลที่ได้จากการสร้างสรรค์ศิลปะนี้
จะมีส่วนช่วยกลมเกลาจิตใจของผู้อื่นได้ไม่มากก็น้อย เป็นการแบ่งปันประสบการณ์ทางด้านสุนทรียศาสตร์
เพื่อการรับรู้และเข้าใจร่วมกัน ซึ่งจะเป็นการพัฒนาวงการศิลปะต่อไป
ข้าพเจ้ายอมรับว่า กว่าที่จะสร้างสรรค์ผลงานศิลปะให้ออกมานั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย
กระบวนการศึกษาศิลปะ ก็นับว่าสำคัญซึ่งเป็นทางที่จะให้เข้าใจถึงกระบวนการสร้างสรรค์ได้เร็วขึ้น
และมีระบบความคิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ตลอดจนเทคนิควิธีการที่ได้เรียนรู้
และนำมาถ่ายทอดผลงานศิลปะเหล่านี้
เมื่อก่อนข้าพเจ้าคิดว่าการสร้างสรรค์ศิลปะก็คือการทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ
จะวาดรูปหรือใช้สีอย่างไรก็ได้ ไม่จำกัด แต่นั่นก็เป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นหลังจากเริ่มเรียน
แล้วเริ่มมีการตรวจภาพร่างผลงาน มีการสอบถามถึงที่มา เนื้อหาและเรื่องราว
และแนวความคิดต่างๆ และก็จบลงด้วยคำถามที่ว่า ทำไปเพื่ออะไร?
ทำสิ่งนี้แล้วจะได้ผลสิ่งใดขึ้นมา? สิ่งเหล่านี้ค่อยๆหล่อหลอม
และซึมซับอยู่ในระบบความคิดของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าก็ได้นำระบบความคิดนี้ไปประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตด้วย
การซักไซร้กับตนเอง การทบทวน ประมวลความคิด กระทั่งกลั่นกรองออกมา
ในการตัดสินใจและกระทำสิ่งต่างๆนั้น ทำให้มองเห็นว่าศิลปะ
แม้จะอยู่ในส่วนของจินตนาการแต่ในกระบวนการสร้างสรรค์จะต้องเป็นเหตุเป็นผล
มีที่มา ซึ่งเป็นผลพวงมาจากระบบความคิดที่การศึกษาได้มอบให้นั่นเอง
ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การสร้างศิลปนิพนธ์ตามโครงการชื่อ
"ฉันและพื้นที่ของฉัน" นี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะกระตุ้นให้ผู้คนหันมาทบทวนชีวิตภายใต้สิ่งแวดล้อมมทางวัตถุของตนเองมากขึ้น
ได้รู้จักตระหนักถึงโลกของจินตนาการความคิดฝัน ไม่ให้ความสำคัญกับโลกวัตถุจนเกินไป
ได้รู้จักมีเวลาเพียงพอที่จะสำรวจตรวจสอบตัวตนภายในของตนเอง
เพียงเท่านี้ก็เป็นความสำเร็จส่วนหนึ่งของศิลปนิพนธ์ชุดนี้ของข้าพเจ้า
บรรณานุกรม
- ฟรอมน์,อีริค.
The Art of Loving "รัก" : แปลและเรียบเรียงโดย
ช. เขียวพุ่มพวง และอาคเนย์
- ปราชญ์เหลาจื๊อ. คัมภีร์เต๋าเต็กเก็ง บทที่1
- คาลิล ยิบลาน. The Prophet ปรัชญาชีวิต : ถอดความโดย
ระวี ภาวิไล ,( กรุงเทพ: สำนักพิมพ์ผีเสื้อ) หน้า 50
- ชะวัชชัย ภาติณธุ. ศิลปะศิลปินหรือศิลปินศิลปะ (กรุงเทพฯ
: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ , 2532) , หน้า 64.
- ชลูด นิ่มเสมอ. องค์ประกอบของศิลปะ (กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพาณิชย์,
2539), หน้า 213.
+
+ + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + +
+ + + + + + + + +
|