+
+ + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + +
+ + + + + + + + +
พื้นฐานความคิดและอิทธิพลในการสร้างสรรค์
ในการสร้างสรรค์ศิลปนิพนธ์ของข้าพเจ้านั้น
ข้าพเจ้าได้พยายามทบทวนเพื่อทำความรู้จักกับตัวตนของตัวเองให้มากขึ้น
ซึ่งก็คงต้องพิจารณาถึงพื้นฐานความคิดว่าได้รับอิทธิพลหรือแรงบันดาลใจจากไหน
อย่างไร เพื่อสู่แนวทางการสร้างสรรค์ การเรียนรู้ และการค้นพบต่อไป
"เพราะความคิดของคนเราไม่ได้เกิดขึ้นมาจากความว่างเปล่า
หากแต่เกิดจากการสะท้อนโลกเข้าไป เช่นเดียวกับการที่คนสังคมหนึ่ง
จะมีโลกทัศน์และชีวทัศน์อย่างไร ก็ย่อมขึ้นอยู่กับการหล่อหลอม
ของระบบสังคมที่เขาอาศัยอยู่นั้นเอง"
อิทธิพลที่ได้รับจากลัทธิความเชื่อและธรรมชาติ
ข้าพเจ้ามีความคิดที่ว่าคนเกิดมาทำไม? ตายแล้วไปไหน? เฝ้าหาคำตอบอยู่ร่ำไป
ถ้าไม่เกิดก็ไม่มีตาย มีแต่ความว่างเปล่า แต่ในเมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องมีกรรม
ทั้งดีและชั่ว วนเวียนกันอยู่ในความเป็นมนุษย์และสรรพสัตว์
ซึ่งคำตอบที่ข้าพเจ้าได้ในตอนนี้คือ ทุกคนเกิดมาก็เพื่อต้องการมีความสุขทั้งนั้น
แต่จะมีวิถีทางใดล่ะ ที่จะเป็นทางนำเราไปสู่ความสุข สู่การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
บางคนก็เฝ้าหาคำตอบจากการนั่งมองท้องฟ้า สายน้ำ ภูเขาลำเนาไพร
ดอกไม้ ต้นไม้ใบหญ้า ฯลฯ ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าการที่เราเฝ้ามองสิ่งต่างๆรอบตัว
ก็คือความสงบอย่างหนึ่งที่ได้หยุดนิ่ง ปล่อยให้จิตใจเพลิดเพลินไปกับความสงบ
ซึ่งคล้ายกับอาการเหม่อ มันอาจจะเป็นช่วงเวลาที่เราไม่ต้องการอะไรเลย
ขอแค่นั่งอยู่เฉยๆสักครู่ แต่ความจริงแล้วข้าพเจ้าคิดว่ามันมีอะไรบางอย่างอยู่ในนั้น
นั่นคือเสียงที่มาจากตัวเราเอง ถ้าลองเฝ้าสังเกตให้ดี
คำตอบนั้นก็มาจากการสนทนา พูดคุยกับตัวเราเองนั่นเอง
"ความว่างเป็นบ่อเกิดของสรรพสิ่ง
ส่วนความมีก็เป็นมารดาของสิ่งทั้งหลาย
ถ้ามองด้านความว่าง ก็จะเห็นความลี้ลับของสรรพสิ่ง
หากมองด้านความมี ก็เห็นเป็นปรากฏการณ์ของสิ่งทั้งหลาย
โดยที่แท้ สภาวะทั้งสองนี้ ก็มีแหล่งกำเนิดเดียวกัน
เพียงแต่เรียกชื่อต่างกันทั้งนั้น
สภาวะทั้งสองอย่าง ต่างก็เป็นธรรมชาติลึกซึ้ง
ลึกยิ่งกว่าลึก ซึ้งยิ่งกว่าซึ้ง
ทั้งเป็นประตูแห่งความเปลี่ยนแปลงลี้ลับของสรรพสิ่ง"
(ดตก ๑)
ในการสร้างสรรค์ศิลปนิพนธ์ชุดนี้
ข้าพเจ้าได้ใช้รูปทรงที่มาของธรรมชาติ เช่น บ้าน ม้า ต้นหญ้า
ดอกไม้ และบรรยากาศของความสว่างไสว ท่ามกลางความมืดมิด
มาเป็นสื่อในการนำเสนอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ข้าพเจ้าได้ลองนั่งคิดวิเคราะห์
หาความรู้สึกที่มีต่อพื้นที่ที่จะสร้างสรรค์ ว่ามีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับตัวเองอย่างไร
ทำไมข้าพเจ้าถึงเลือกใช้สถานที่ บรรยากาศ และรูปทรงเหล่านี้
ซึ่งข้าพเจ้าหยิบมันมาใช้แทนสัญลักษณ์ซึ่งสื่อความหมายบางอย่างซึ่งจะขอกล่าวในบทต่อไป
อิทธิพลที่ได้รับจากสภาพแวดล้อม
สภาพแวดล้อมนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมาก
ในการกำหนดมุมมองและทัศนคติของคน ที่มีชีวิตอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้นๆ
ดังมีคำกล่าวที่ว่า "ความสุขเริ่มต้นที่บ้าน"
และ "ครอบครัวเป็นพื้นฐานของสังคม" แม้ว่าครอบครัวที่ข้าพเจ้าเติบโตมานี้จะอยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์มีความแตกร้าวที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก
แต่ข้าพเจ้าก็มีความเชื่อที่ว่าเมื่อครอบครัวมีปัญหาพ่อกับแม่เลิกกัน
ลูกที่เกิดมาก็ไม่จำเป็นต้องเติบโตขึ้นเป็นเด็กมีปัญหาเสมอไป
เพราะแค่นี้ปัญหาก็มีมากอยู่แล้ว ไม่จำเป็นที่เราจะต้องสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นมาอีก
ข้าพเจ้าจึงมักจะมองหาความพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ มองหาความหมายของคำว่า
"บ้าน" และ "ครอบครัว" โดยการหาส่วนที่สมดุลในความไม่สมบูรณ์แบบนั้น
และอาศัยอยู่กับมันให้ได้อย่างมีความสุขตามอัตถภาพ
อิทธิพลทางศิลปะ
แรกเริ่มเมื่อข้าพเจ้ารู้จักกับการถ่ายรูป การใช้กล้องนั้น
ทำให้ข้าพเจ้าได้สามารถพบมุมมองใหม่ในงาน และมีความสะดวกรวดเร็วที่จะบันทึกภาพนั้นเก็บไว้
ซึ่งบางครั้งภาพนั้นมันอาจจะสมบูรณ์ในตัวมันเอง หรืออาจจะเป็นข้อมูลเบื้องต้นเพื่อนำมาเสริมสร้างจินตนาการต่อไป
สำหรับตัวข้าพเจ้าแล้วภาพถ่ายที่ข้าพเจ้าใช้เป็นรูปจำลองของความคิดนั้น
ข้าพเจ้าก็รู้สึกว่ามันเป็นรูปเป็นร่าง ที่สามารถจะถ่ายทอดจินตนาการที่ข้าพเจ้าต้องการแสดงออกได้แล้ว
และสามารถคิดต่อไปได้อีกเรื่อยๆและรวดเร็ว แต่ในเมื่อต้องอยู่ภายใต้ระบบของการศึกษาแล้ว
บางทีข้อจำกัดของการทำงานก็มี คือ ต้องถ่ายทอดรูปจำลองของความคิดนั้นให้แปรสภาพออกมาเป็นผลงานภาพพิมพ์อีก
ตามแต่เทคนิควิธีการที่เราจะเลือกสรรค์ ซึ่งข้าพเจ้าก็ต้องปฏิบัติตามนั้นด้วย
หลังจากนั้นข้าพเจ้าก็ได้พบเห็นผลงานของ Sandy Skoglund
ซึ่งเธอเกิดเมื่อ ปี 1964 ที่ Quincy,Massachusetts เธอได้รับปริญญาตรีและปริญญาโท
ทางด้านจิตรกรรม จากมหาวิทยาลัยแห่งโลวา เมือง Lowa City
และเริ่มเป็นอาจารย์สอนศิลปะตั้งแต่ปี 1973 เป็นต้นมา
ซึ่งเธอได้สอนวิชาเกี่ยวกับ ศิลปะร่วมสมัย, การวิจารณ์ศิลปะ,
studio production และเธอยังได้เขียนหนังสือ ชื่อ "Making
It Contemporary" เพื่อประกอบการสอนวิชาศิลปะร่วมสมัยอีกด้วย
ในการทำงานของเธอ เธอก็ได้ให้ความสนใจในสาระสำคัญที่เกี่ยวกับ
สภาพแวดล้อม, ศาสนา, ความฝัน, และอาหาร มาเป็นหัวข้อในการทำงานของเธอ
และสามารถเป็นสื่อที่จะอธิบายความหมายมากมายที่เธอต้องการถ่ายทอดออกมา
งานของเธอคล้ายกับการจัดฉากเวที และการที่จะเข้าไปถึงกระบวนการสร้างสรรค์งานของเธอได้นั้น
เธอได้อาศัย 2 หลักการดังนี้
- การผสมผสานระหว่างความจริงและความไม่จริงเข้าด้วยกัน
ซึ่งในศิลปะการจัดวางของเธอ เธอได้มุ่งมั่นที่จะรักษาความสมดุลระหว่างจินตนาการความเพ้อฝัน
และความเป็นจริง เธอได้ใช้สิ่งที่จริง และสิ่งที่ไม่จริง
มาเป็นทัศนธาตุที่นำไปสู่ความเป็นปกติในสภาพแวดล้อม แต่ผลที่ออกมาสามารถทำให้มีความแปลกใหม่
เฟ้อฝันและก่อให้เกิดความเพลิดเพลินไปกับสิ่งที่เธอได้สร้างสรรค์ออกมาอย่างจริงจังตามจุดประสงค์ที่เธอตั้งเอาไว้
สำหรับเธอแล้วความเฟ้อฝันจินตนาการดังกล่าวที่สามารถทำให้เป็นความจริงขึ้นมา
จะก่อให้เกิดคำถามว่า ทำไมเราจะอนุญาตให้เป็นอย่างนั้นไม่ได้
- การใช้ทัศนธาตุที่ขัดกัน ในการทำงานที่มีเอกลักษณ์ของเธอ
เธอได้ใช้ทัศนธาตุที่ขัดกันโดยเฉพาะเรื่องของคู่สีที่สดและมีความตรงกันข้ามมานำเสนอนั้น
ทำให้งานของเธอมีความน่าสนใจอย่างมาก ไม่ว่าจะในเรื่องเนื้อหา
สภาพแวดล้อม ความจริงและความไม่จริง ที่เธอได้หยิบยกมาใช้นั้น
เธอได้นำสิ่งเหล่านี้มาสู่กระบวนการถ่ายทอดในงานของเธอ
จากผลงานของเธอทำให้ข้าพเจ้ามีความประทับใจ ต่อกระบวนการสร้างสรรค์และผลงานที่ออกมานั้น
โดยเฉพาะการที่สร้างฉาก สร้างตัววัตถุธาตุต่างๆ ตลอดจนสิ่งแวดล้อมและสถานที่ขึ้นมาเพื่อรองรับความหมายและสัญลักษณ์นั้น
ทำให้ข้าพเจ้ามีความรู้สึกที่สอดคล้องกับงานของเธอ โดยเฉพาะขั้นตอนสุดท้ายที่เธอได้ใช้เป็นสื่อในการถ่ายทอดก็คือ
กระบวนการถ่ายภาพที่เธอก็มีความชำนาญเป็นพิเศษด้วยเช่นกัน
อิทธิพลจากวรรณกรรม จิตวิทยาและปรัชญา
การอ่านหนังสือ
นับว่ามีความสำคัญต่อระบบความคิดของข้าพเจ้าอย่างมาก เพราะการที่เราจะเรียนรู้ในทุกเรื่องด้วยตัวเองอย่างเดียวคงเป็นเรื่องที่ยาก
แต่เมื่อเราได้เรียนรู้โลกผ่านมุมมองและประสบการณ์ของผู้อื่น
ซึ่งในที่นี้ข้าพเจ้าขอใช้คำว่าผู้รู้ ที่สามารถจะชี้แนะเเนวทางบางอย่างใหัเรานำไปพิจารณา
ใคร่ครวญ และนำมาประยุกต์ปรับเปลี่ยนใช้ให้เข้ากับรูปแบบในการดำเนินชีวิตของเราได้
ข้าพเจ้าเชื่อว่าการที่มนุษย์ผู้หนึ่งจะเขียน หรือ ประพันธ์เรื่องราวใดออกมานั้น
ก็ย่อมมาจากผลของประสบการณ์ที่เขาได้รับรู้ กลั่นกรองออกมาจากความคิดและสติปัญญาแล้ว
เพื่อเผยแพร่ให้ผู้อื่นรับรู้ในความรู้สึกนึกคิดของตน
เพื่อความเข้าซึ่งกันและกันของสรรพสิ่ง ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงเห็นว่าการที่เราเลือกอ่านหนังสือเล่มใด
ประเภทใดก็ย่อมมาจากความชอบของบุคคลนั้นๆ ซึ่งเมื่อข้าพเจ้าอ่านข้อความไหน
ที่ก่อให้เกิดความประทับใจแล้ว ข้าพเจ้าก็มักจะจดไว้ในสมุดบันทึก
ที่มีทั้งเรื่องราวของตนเองและผู้อื่นปนเปกันอยู่ในนั้น
ซึ่งสมุดบันทึกที่ข้าพเจ้าใช้นั้นก็เป็นสมุดที่ข้าพเจ้าทำเอง
และรู้สึกว่ามีความสุขที่ได้เขียนเรื่องราวต่างๆลงไป บนสมุดที่เราทำขึ้นมาเอง
ตัวอย่างบางส่วนของสมุดบันทึกของข้าพเจ้า
"จงสร้างบ้านพักในแดนเปลี่ยว
ด้วยจินตนาการของเธอ ก่อนที่เธอจะสร้างบ้านเรือนขึ้นในกำแพงนคร
เพราะไม่แต่เธอเท่านั้น ที่กลับมาพักผ่อนที่บ้านในยามพลบ
แต่ผู้ท่องเที่ยวในเธอด้วย จะต้องกลับไปยังบ้านอันห่างไกลและโดดเดี่ยวนั้น
บ้านของเธอคือกายอันใหญ่ของเธอ
มันเติบโตภายใต้แสงแดด และหลับในความสงัดนิ่งแห่งราตรีกาล
แต่มันมิได้ไร้ความฝัน บ้านของเธอไม่ฝันหรอกหรือ และในความฝันนั้น
มันก็ละจากนครไปสู่หมู่ไม้และขุนเขา"
ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพสังคมปัจจุบันที่เชื่อมโยงกับวิทยานิพนธ์
ข้าพเจ้าคิดว่าการที่ผู้คนในสังคม
ต้องมีชีวิตอาศัยอยู่ในสังคมอันอึดอัดและเร่งรีบ การใช้ชีวิตประจำวันท่ามกลางกระแสบริโภคนิยม
สื่อต่างๆที่รุ่มเร้าเข้ามา ให้ได้สัมผัสและรับรู้ เราจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้และเป็นส่วนหนึ่งในสังคมนั้น
แต่จะทำอย่างไรที่จะไม่ต้องสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไป
เพื่อแลกกับการยอมรับและมีเนื้อที่เพียงพอที่จะหยัดยืนร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้
สิ่งที่ข้าพเจ้าหวาดกลัวที่สุดในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมนั้น
คือการที่มนุษย์ทำร้ายมนุษย์ด้วยกันเอง ไม่ว่าจะทางร่างกายและจิตใจ
นั้นถือว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัว แต่มีสิ่งที่ยังคงหน้ากลัวกว่านั้น
คือ การไม่รู้ตัวเองว่ากำลังทำร้ายผู้อื่นอยู่ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม
เจตนาหรือไม่ก็ตาม
ข้าพเจ้าคิดว่าเพียงเราปลีกตัวออกมาจากวังวนเหล่านั้น
เพื่อหยุดคิดพิจารณาสักครู่หนึ่ง ลองถอยออกมามองพฤติกรรมของตัวเราเอง
และสังคมที่เราใช้ชีวิตอยู่นั้น ว่าเราทำอะไรลงไป ตรงตามจุดประสงค์ที่เราตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่
และผลของการกระทำนั้นส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง ดีหรือไม่ดีอย่างไร
และอะไรที่เราจะยึดไว้เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตต่อไปได้
ในการสร้างสรรค์งานศิลปนิพนธ์ "ฉันและพื้นที่ของฉัน"
นี้ ข้าพเจ้าก็ได้ใช้หลักการดังกล่าว มาเป็นแรงบันดาลใจและแนวความคิดในการสร้างสรรค์
โดยนำเสนอผ่านรูปสัญลักษณ์ที่ต้องการแสดงออกถึงความรู้สึกดังกล่าว
ข้าพเจ้ามีความเชื่อว่าหากมนุษย์เราลองสำรวจตรวจสอบ ปล่อยให้ใจและกายได้ลองสื่อสารกันดูแล้ว
ข้าพเจ้าคิดว่าน่าจะพบคำตอบบางประการ ที่จะสามรถทำให้มนุษย์ผู้นั้นและสังคมที่เขาอาศัยอยู่มีความสุขร่วมกันได้
+
+ + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + +
+ + + + + + + + +
|