+ + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + +

ขั้นตอนการวิเคราะห์องค์ประกอบศิลป์

"ศิลปินส่วนมากจะแสดงออกในงานของเขาด้วยการใช้โครงสร้างของรูปทรง หรือของภาพที่เป็นสัญลักษณ์ของอารมณ์ จะโดยสำนักหรือไม่สำนึกก็ตาม"
ในการสร้างภาพจำลองของความคิดนั้น เบื้องต้นข้าพเจ้าไม่ได้ใส่ใจในเรื่องขององค์ประกอบมากนัก นึกถึงแต่ความคิดที่ต้องนำเสนอมากกว่า แล้วทัศนธาตุต่างๆ กับองค์ประกอบศิลป์ก็จะตามมาเองโดยอัตโนมัติ ซึ่งปล่อยให้เป็นการแสดงออกตามธรรมชาติของตนเองในช่วงเวลานั้น แต่เมื่อได้ภาพจำลองของความคิดให้ออกมาเป็นรูปธรรมมาแล้ว ก็สามารถวิเคราะห์ได้ดังต่อไปนี้

1. การใช้สัญลักษณ์

"สัญลักษณ์ คือ สิ่งหนึ่งที่ใช้แทนความหมายของอีกสิ่งหนึ่ง แต่ที่จริงแล้ว หมายถึง รูปทรงที่ประกอบขึ้นด้วยโครงสร้างทางรูปและทางวัตถุ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ให้กับเนื้อหาหรือความเป็นศิลปะหรือสุนทรียภาพที่เกิดจากรูปทรงนั้น"
การสื่อความหมายโดยใช้สัญลักษณ์ในการสร้างสรรค์ศิลปะของข้าพเจ้านั้น แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ได้ดังนี้

1.1 สัญลักษณ์โดยภาพรวม

ภาพโดยรวมของงานทั้งหมดนั้น ข้าพเจ้าต้องการแสดงให้เห็นถึงอารมณ์ของแสงและบรรยายกาศที่อบอุ่น สว่างไสว ให้อยู่โดดเด่นขึ้นมาท่ามกลางความมืดมิด โดยในการสร้างภาพจำลองของความคิดนั้น ข้าพเจ้าได้ใช้แสงของเทียนเป็นตัวที่ก่อกำเนิดแสงสว่างขึ้นมา ซึ่งแสงของเทียนนั้นก็ได้ให้ความหมายกับข้าพเจ้าอย่างมากในแง่สัญลักษณ์ ที่ส่วนใหญ่ใช้เป็นตัวแทนของความเชื่อทางศาสนา ข้าพเจ้าคิดว่าแสงเทียนนั้นเมื่อเราเพ่งมองก็คือการทำให้จิตมีสมาธิขึ้นมา แล้วอาศัยปัญญาในการพิจารณาใคร่ครวญสิ่งต่างๆอย่างมีเหตุมีผล โดยข้าพเจ้าใช้แสงเทียนที่ส่องสว่างท่ามกลางความมืดแล้วค่อยแผ่กระจายหายไปในบรรยากาศรอบนอกนั้น ก็เสมือนกับว่าเกิดมีความสุข ความหวังอยู่ในใจและไม่มีทางที่จะย่อท้อแม้เกิดปัญหา แม้ว่าแสงนั้นถึงว่าจะอ่อนแรงแต่ก็ยังสามารถเผื่อแผ่ความสุขและความหวังออกไปให้ผู้อื่นที่ต้องการความสว่างไสวด้วยเช่นกัน

1.2 สัญลักษณ์เฉพาะส่วน
การที่ข้าพเจ้าเลือกใช้รูปทรงของ ม้า บ้าน สถานที่ และบรรยากาศที่โอบล้อม มาใช้เป็นสัญลักษณ์ในการแสดงออกเพื่อสื่อความหมายที่รู้สึกให้ออกมานั้น ข้าพเจ้าสามารถที่จะอธิบายได้ดังนี้

ม้า

การเลือกใช้ม้า มาเป็นสัญลักษณ์แทนตัวของข้าพเจ้าเองนั้น ก็คือ ม้าเป็นสัตว์ที่มักถูกมองว่ามีความสวยงาม สง่างาม แสนรู้ องอาจ แข็งแรง หยิ่งผยอง แล้วยังเป็นพาหนะที่ใช้เดินทาง และใช้ในการศึกสงครามสมัยก่อน ซึ่งในท่วงท่าที่ปราดเปรียว ว่องไว พร้อมที่จะโลดแล่นออกไปสู่ธรรมชาติ ถ้าปราศจากการกักขังแล้ว
แต่สำหรับตัวของข้าพเจ้ามีความรู้สึกเพิ่มเติมอีกว่า ม้าที่ข้าพเจ้านำมาใช้นี้ก็คือตัวแทนของข้าพเจ้าที่ยังมีความไม่พร้อมของร่างกาย และจิตใจ หวาดระแวง ระวังภัย ที่ยังคงต้องน้อมรับ เรียนรู้ต่อเรื่องราว และสรรพสิ่งต่างๆในโลก อย่างสงบนิ่ง เพื่อสร้างความเข้าใจ ความแข็งแกร่งให้กับตนเอง เพื่อรอวันก้าวออกไปสู่ดินแดนที่อิสระตามที่ใจปราถนา ไปสู่ความเป็นธรรมชาติและความอิสระเสรี ในที่ๆเหมาะสมกับความตัองการและเป็นวิถีทางที่ตนเองเลือกแล้วในแนวทางการดำเนินชีวิตต่อไป
และอีกประการหนึ่งม้าที่ข้าพเจ้าใช้เป็นต้นแบบนั้น ก็มาจากฝีมือการปั้นของตนเองที่ได้สร้างสรรค์ออกมานั้น แม้จะดูว่าเป็นม้าที่ไม่สมจริง ผิดสัดส่วน ไม่ถูกต้องตามหลักกายวิภาคนั้น ข้าพเจ้ากลับรู้สึกชอบและมีความพอใจในความไม่สมบูรณ์แบบนั้น เพราะว่ามันก็มีลักษณะที่เหมือนกับข้าพเจ้าคือมีความไม่สมบูรณ์แบบอยู่ในตัว แต่ข้าพเจ้าก็มีความภูมิใจในสิ่งที่ตนเองสร้างขึ้นมาและสิ่งที่เป็นอยู่ของตนเอง ซึ่งอาจจะไม่สมบูรณ์แบบตามอุดมคติของคนทั่วไป แต่มันกลับสร้างความพอใจและเป็นไปตามบุคลิกที่ข้าพเจ้าต้องการ ซึ่งปีที่ข้าพเจ้าเกิดนั้นก็ตรงกับปีมะเมียพอดี ทำให้ข้าพเจ้ามีความรู้สึกผูกพันกับสัญลักษณ์นี้มาตั้งแต่เด็กๆ เพราะว่ามีความเกี่ยวข้องมาตลอดตั้งแต่กำเนิดมา และในปีที่ข้าพเจ้าสำเร็จการศึกษาในชั้นปริญญาตรีนี้ ก็ได้เป็นเวลา 2 รอบตามปีนักษัตรพอดี ซึ่งก็ทำให้เห็นถึงสัมพันธภาพของการมีชีวิต และการศึกษาเรียนรู้ ว่ามีความเกี่ยวโยงกันอย่างไร ซึ่งก็คงต้องใช้การเรียนรู้ตราบกระทั้งวาระสุดท้ายนั่นเอง

บ้าน
การใช้บ้านมาเป็นสัญลักษณ์ในการสร้างสรรค์งานศิลปะของข้าพเจ้านั้น คือ ความรู้สึกผูกพันในวิถีชีวิตนั่นเอง "บ้าน" สำหรับข้าพเจ้าแล้วคิดว่าเป็นองค์ประกอบพื้นฐานหนึ่งของการมีชีวิตที่ดี ในที่อาจจะไม่ใช่แค่ลักษณะทางกายภาพของบ้าน แต่ความจริงแล้วมันเป็นที่รวมสัมพันธภาพของสมาชิกภายในครอบครัวนั้น ตัวตนของแต่ละบุคคลที่อาศัยอยู่ในนั้น ที่จะสามารถแสดงความเป็นตัวตนที่แท้จริงอกมาได้อย่างหมดเปลือก ไม่ต้องเสแสร้งอีกต่อไป หลังจากที่ต้องออกไปสวมบทบาทตามสถานภาพที่เป็นอยู่ในสังคมภายนอก ที่ต้องออกไปใช้ชีวิตร่วมกับบุคคลอื่นแล้ว กิจกรรมต่างๆในชีวิตเข้ามามากมาย การพบปะผู้คน เรื่องราวที่เป็นของตัวเราเอง เรื่องราวของคนอื่น ที่เราต้องออกไปรับรู้นั้น มันดูสับสนวุ่นวายนักที่จะต้องออกไปเผชิญ และการหลีกหนีจากสภาวะตรงนั้นได้ ก็คือการย้อนกลับไปในที่ที่เราได้เดินทางจากมา ข้าพเจ้าคิดว่าปัญหาทั้งหลายที่ติดตัวมาทั้งวันจะสามรถเจือจางไปได้ส่วนหนึ่งทันที่ที่เราเห็นหลังคาบ้าน อีกส่วนหนึ่งเมื่อเราเห็นประตู้รั้วบ้าน อีกส่วนหนึ่งเมื่อเราถอดรองเท้าออก ณ. ประตูบ้าน และเมื่อเวลาที่หัวถึงหมอนนั่นแหละเราจึงจะสามารถปล่อยวางปัญหาออกจากร่างกายและจิตใจสู่สภาวะของการพักผ่อน อบอุ่น ปกป้อง ปลอดภัย เพื่อรอพบกับวันใหม่ๆที่ปัญหาจะแก้ลงได้ในทุกๆเรื่อง ข้าพเจ้ามีความเชื่ออย่างนั้น และทุกอณูของความเป็นบ้านจะรอคอยการกลับไปของเราอย่างสัตย์ซื่อเสมอเรื่อยมา
อีกประการหนึ่งข้าเจ้าคิดว่าเมื่อเรากลับบ้านแล้วเราสามารพักผ่อนได้ทั้งร่างกายและจิตใจ แต่ข้าพเจ้าก็คิดว่าถ้าปราศจากร่างกายแล้ว จิตวิญญาณของมนุษย์ก็คงต้องการที่จะกลับไปสู่ที่ที่ได้จากมาเช่นกัน มันก็คล้ายๆกับบ้านนั่นแหละ ที่เราต้องพยายามหาทางกลับไปให้ได้ ที่ซึ่งปัญหาทั้งหมดจะไม่มีแล้วจริง มนุษย์เราจึงพยายามหาทางกลับไปให้ได้ ในหลายวิถีทางตามแต่ความเชื่อและความศรัทธาที่มีมานั่นเอง

บรรยากาศยามค่ำคืน
การที่ข้าพเจ้าเลือกใช้บรรยากาศในยามค่ำคืนนั้นก็เพราะเป็นช่วงเวลาที่ข้าพเจ้าเดินทางกลับไปถึงบ้านในตอนที่มืดมิดแล้ว ข้าพเจ้าจะดีใจทุกครั้งที่ได้เห็นแสงสว่างที่เปล่งออกมา ทักทาย ให้รู้สึกถึงความอบอุ่นอยู่ในนั้น ยิ่งในยามที่มืดมิด เงียบ สงบ ปล่อยวางจากภาระภายนอก สู่ช่วงเวลาที่ได้ใช้ชีวิตกับตัวเองจริงๆ ในเมื่อกิจกรรมทางกายน้อยลง ไม่ต้องปฏิสัมพันธ์กับสิ่งอื่นใดมากนักนอกจากตนเอง แล้วเสียงภายในกายจะค่อยๆดังขึ้นๆ การสนทนาโต้ตอบ การจัดระบบความคิดต่างๆ จะเริ่มทำงาน ถ้าเราลองสังเกตดู จากนั้นก็จะเริ่มเข้าสู่ห้วงนิทรารมณ์ต่อไป

สนามหญ้า
สถานที่ที่ข้าพเจ้าได้นำมาใช้จัดวางนั้น เนื่องจากข้าพเจ้าใช้ม้ามาเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แทนตัวเองแล้ว ข้าพเจ้าจึงเลือกใช้หญ้าเป็นตัวกำหนดสถานที่ เพื่อแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ และการใช้วิถีชีวิตร่วมกับธรรมชาติ คือ เมื่อม้ากินหญ้าเป็นอาหาร และเวลาที่ต้องการอิสระก็สามารถออกเดินและวิ่งไปบนพื้นหญ้าได้ด้วยเช่นกัน ข้าพเจ้าคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ดี ที่ได้ใช้ชีวิตในสถานที่ที่เราเลือกจะใช้ชีวิตอย่างอิสระ และยังมีอาหารให้กินเมื่อยามที่หิว ซึ่งก็นับว่าเป็นปัจจัยสี่ อย่างหนึ่งของมนุษย์เช่นกัน

ดอกไม้
ข้าพเจ้ายังใช้ดอกไม้มาเป็นส่วนประกอบที่แสดงถึงความสวยงามในชีวิต ที่สามารถพบเห็นได้ชีวิตถ้าเพียงเราจะมองหา เป็นตัวแทนของสดชื่น แจ่มใส ที่โลกได้มอบไว้ให้แก่มวลมนุษย์ได้ชื่นชม และดอกไม้ที่ข้าพเจ้าใช้นั้นก็เป็นดอกไม้ที่ที่ตาปลูกไว้ในอาณาเขตบ้าน ทำให้ในผลงานข้าพเจ้าสามารถสัมผัสได้ถึงบรรยากาศของบ้านในห้วงของความคิด และยังระลึกถึงความรักที่ตามอบไว้ให้ที่โอบล้อมบ้านหลังนี้เอาไว้ ซึ่งบ้านที่ข้าพเจ้าอาศัยอยู่นั้นก็เป็นบ้านที่ตาสร้างขึ้นมาจากหยาดเหงื่อแรงกายเพื่อให้ลูกหลานได้พักพิงและพึ่งใบบุญ เพราะถ้าไม่มีตาพวกเราก็คงจะไม่มีที่คุ้มกระลาหัวอย่างทุกวันนี้

2. รูปทรง (Form)

ข้าพเจ้าได้ใช้รูปทรงต่างๆมาประกอบกัน เพื่อให้สอดคล้องกับความคิดและจินตนาการดังนี้
1. รูปทรงของบ้าน ในมุมมองที่มาจากหลายทิศทาง ซึ่งเป็นรูปทรงเรขาคณิต (Geometric Form) ที่เรียบง่าย และสงบนิ่ง
2. รูปทรงของม้า ในท่าทางมุมมองที่ต่างกัน ซึ่งเป็นรูปทรงอินทรียรูป (Organic Form) ที่ให้ความรู้สึกมีชีวิต
3. รูปทรงของพื้นที่ว่างและบรรยากาศรอบนอก ซึ่งเป็นรูปทรงอิสระ(Free Form) ไม่มีโครงสร้างที่แน่นอน เป็นไปตามอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม และรูปทรงอินทรียรูป (Organic Form)
จะเห็นได้ว่ารูปทรงเรขาคณิตจะให้ความรู้สึกเป็นกลาง รูปทรงอินทรียรูปให้ความมีชีวิต รูปทรงอิสระให้ความเคลื่อนไหว และรูปทรงอิสระมีลักษณะขัดแย้งกับรูปทรงเรขาคณิต แต่กลมกลืนกับรูปทรงอินทรียรูป

3. เส้น (Line)

ในงานของข้าพเจ้าจะใช้เส้นเป็นตัวกำหนดขอบเขตของรูปทรง, กำหนดขอบเขตของที่ว่าง,เป็นตัวกำหนดโครงสร้างและทิศทางในการเชื่อมต่อรูปทรงกับรูปทรง และรูปทรงกับพื้นที่ว่าง แล้วจะเห็นได้ว่าในลายละเอียดที่เป็นส่วนของน้ำหนักแสง-เงา ด้วยเทคนิค Hard Ground ข้าพเจ้าก็ได้ใช้เส้นเล็กๆ นำมาสานไขว้กันไปมา ก่อให้เกิดน้ำหนักและรูปทรงอีกทีหนึ่ง
แม้ว่าเส้นที่ใช้สานเพื่อสร้างน้ำหนัก จะเป็นเส้นที่สับสน ทับกันไปมาสะเปะสะปะ แต่เมื่อเราสามารถจัดระเบียบให้ความยุ่งเหยิงเหล่านี้ มันก็สามารถก่อให้เกิด ความรู้สึกที่ราบเรียบสงบนิ่งได้ และการใช้เส้นเล็กๆค่อยสานนี้ ข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่าเหมือนกับการถักทอก่อร่างสร้างอาณาเขตของตน ให้ปรากฏออกมาทีละเล็กละน้อย ให้ความรู้สึกที่โอบล้อม แผ่กระจาย ครอบคลุม บรรยากาศในภาพให้อารมณ์เดียวกัน

4. พื้นที่ว่างและมิติ (Space & Dimension)

ที่ว่างในงานของข้าพเจ้าจะเป็นตัวสร้างบรรยากาศและมิติให้ดูแล้วมีความรู้สึกที่ลึก เป็นพื้นที่ๆมีน้ำหนักเข้ม ใช้ Open Space ข้าพเจ้าจะให้บรรยากาศเข้ามาโอบล้อมรูปทรงต่างๆและช่วยให้มีมิติเพิ่มขึ้นมา เป็นน้ำหนักเข้ม ทำให้ไม่สามารถรู้ลายละเอียดเรื่องราวของสิ่งที่อยู่ในความมืดมิดและไกลออกไปได้ ทำให้ขัดกับพื้นที่ๆถูกแสง ซึ่งเราสามารถเห็นถึงเรื่องราวและลายละเอียดต่างๆได้

5. น้ำหนัก (Tone)

น้ำหนักอ่อนแก่ และแสงเงาในงานของข้าพเจ้า เนื่องมาจากการใช้รูปทรงที่เหมือนจริงในการถ่ายทอด บวกกับความเป็นมิติของกระบวนการจำลองภาพความคิดที่เป็นรูปถ่ายได้แล้ว ทำให้เรื่องน้ำหนักจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะส่งผลให้งานที่ออกมานั้นเป็นอย่างไร
ซึ่งการใช้แสงเงา จะส่งเสริมให้ภาพมีความเหมือนจริง ให้เห็นถึงรูปทรงที่มีความแตกต่าง แต่ได้นำมาจัดองค์ประกอบไว้ด้วยกัน จึงช่วยเพิ่มความคมชัดของรูปทรง และยังสามารถแสดงถึงมิติภายในงาน ระหว่างส่วนที่ได้รับแสง เริ่มจาก ตัวม้า บรรยากาศภายในบ้าน บรรยากาศรอบตัวบ้าน จนถึงบรรยากาศในส่วนที่ไกลออกไป ซึ่งเป็นบรรยากาศในยามค่ำคืน ทำให้เกิดความรู้สึกที่ขัดแย้งกัน แต่ก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกที่กลมกลืนได้ เป็นการผสมกันระหว่างรูปทรงและบรรยากาศที่โอบล้อม

6. สี (Colour)

การใช้สีในงานของข้าพเจ้า จะใช้สีทีมีความตัดกัน ของความสว่างและความมืดมิด เพื่อทำให้เกิดบรรยากาศ และมิติภายในภาพ โดยจะใช้สีในโทนร้อน ให้เป็นบรรยากาศของแสงที่แผ่กระจายออกไปทั่วบริเวณ จนจางหายไปในความมืดของบรรยากาศภายนอก ซึ่งจะใช้โทนสีเข้ม คือ แดง, น้ำตาล, ดำ เป็นตัวสร้างแสง-เงา และน้ำหนัก เป็นการสร้างรูปทรงและบรรยากาศให้ดูกลมกลืน ช่วยสร้างมิติและแสงเงาให้ตรงตามความต้องการ

7. พื้นผิว (Texture)

พื้นผิวที่ใช้มีความแตกต่างกันไม่มากนัก ซึ่งจะช่วยเสริมให้รูปทรง มีความแตกต่างกันของตัววัสดุ ที่นำมาสร้างเป็นต้นแบบ เช่น ความเรียบง่ายของตัวบ้านซึ่งเป็นรูปทรงเรขาคณิต กับส่วนที่เป็นพื้นหญ้าซึ่งเป็นรูปทรงของธรรมชาติ แล้วค่อยๆจางหายไปในความมืดมิดกลายเป็นพื้นที่ว่างที่เรียบง่ายอีกครั้งหนึ่ง และเมื่อมองโดยภาพรวมดูแล้วจะสามารถแสดงให้เห็นถึง ความแตกต่างกันของพื้นผิวที่สื่อถึงเนื้อหาที่นำเสนอด้วย

8. โครงสร้างขององค์ประกอบ

การจัดองค์ประกอบในงานของข้าพเจ้านั้น จะเป็นการจัดที่เรียบง่าย ไม่มีความซับซ้อนมากนัก เป็นการสร้างดุลยภาพ โดยมักจะใช้การจัดองค์ประกอบให้สองข้างมีความเท่ากัน เพราะสามารถแสดงออกถึงเรื่อราวที่ต้องการนำเสนอได้อย่างลงตัว ถ้าจะดูโดยรวมแล้วจะเห็นว่า รูปทรงของม้านั้นจะอยู่ตรงกลางภาพ เพื่อเป็นจุดเด่นของภาพ จากนั้นรูปทรงสถานที่จึงเข้ามารองรับเป็นส่วนรองของภาพ และโอบล้อมด้วยบรรยากาศภายนอกอีกที ซึ่งส่วนมากจะเป็นพื้นที่ว่างที่ก่อให้เกิดมิติที่ลึกเข้าไป


+ + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + +

ขั้นตอนการวิเคราะห์องค์ประกอบศิลป
2002 copyright by myARTery