+ + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + +

วิเคราะห์การพัฒนาผลงาน

ในการศึกษาและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ จนกระทั่งถึงเวลาของการสร้างสรรค์ศิลปะนิพนธ์นั้น ทำให้ข้าพเจ้าได้ผ่านกระบวนการคิด ทดลอง ศึกษา เรียนรู้ในด้านความคิด และรูปแบบของผลงาน เพื่อหาเทคนิค วิธีการ ที่จะนำมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ให้เป็นไปตามธรรมชาติของตัวข้าพเจ้าเองมากที่สุด โดยสามารถพัฒนาและคลี่คลาย ตามลำดับได้ดังนี้

ระยะที่หนึ่ง (ภาคการศึกษาต้น ปีการศึกษา 2543)

เป็นช่วงเวลาที่ข้าพเจ้าได้พยายามคิดค้น หาวิธีการ รูปแบบที่จะนำเสนอผลงาน โดยข้าพเจ้าเริ่มต้นจากแนวความคิดขึ้นมาก่อนว่าตัวเองต้องการอะไร? ทำไปทำไม? เพื่ออะไร? ทำสิ่งนี้แล้วอะไรจะเกิดขึ้น โดยพยายามทบทวนความรู้จากการเรียนวิชาองค์ประกอบศิลป์ มาประยุกต์ใช้ "ความคิด มาก่อนแล้ว Element จะมา อย่าใส่ให้มันมากไป ทำยังไงให้งานแสดงความคิด เราจะนำเสนอได้อย่างตรงตัว โดยที่ส่วนประกอบไม่จำเป็นต้องมาก สะท้อนความคิดแล้วจะมีส่วนที่เป็นของเราเอง"
ในช่วงนี้เมื่อข้าพเจ้าได้ทบทวนความรู้สึกและแนวความคิดดูแล้ว ว่าจะสื่อเรื่องราวเกี่ยวกับความรู้สึกที่มีต่อ "บ้าน" หลังจากนั้นข้าพเจ้าก็เริ่มแปรสภาพความคิดให้ออกมาทางด้านรูปธรรมมากขึ้น โดยเริ่มลงมือออกแบบรูปทรงของบ้าน และบรรยากาศที่อยากให้เป็น ด้วยการบันทึกเป็นลายเส้นง่ายๆ หลังจากนั้นพยายามหาวิธีการที่จะตอบสนองอารมณ์ความรู้สึกให้ออกมาเป็นภาพที่ชัดเจนขึ้น โดยข้าพเจ้าเลือกกระบวนการถ่ายภาพในการสร้างรูปจำลองของความคิดให้ออกมา เริ่มจากการสร้างรูปจำลองของตัวบ้าน และพยายามหาบรรยากาศให้สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกมากที่สุด คือเป็นภาพบ้านที่มีรูปทรงเรียบง่าย มีแสงสว่างเปล่งออกมาจากตัวบ้านท่ามกลางบรรยากาศของความมืดมิดรอบนอก ทำให้ภาพที่ออกมาสามารถแสดงความรู้สึกของบ้านที่เงียบสงบ อบอุ่น และปลอดภัยได้ จากนั้นก็ถ่ายภาพบันทึกเอา ในหลายมุมมองด้วยกัน แล้วจึงนำภาพถ่ายนั้นมาแปลงเป็นผลงานศิลปะภาพพิมพ์อีกที
ซึ่งข้าพเจ้าเลือกใช้เทคนิคภาพพิมพ์โลหะ โดยเลือกเทคนิค Hard Ground เป็นตัวถ่ายทอดผลงานทั้งหมด ซึ่งข้าพเจ้ายอมรับว่าเป็นเทคนิคที่ดูเหมือนว่าจะง่าย และดูเหมือนว่าจะยากในเวลาเดียวกัน แต่ข้าพเจ้าก็ต้องยอมรับกับตัวเองว่าไม่สามารถทำงานชุดนี่ให้ออกมาสำเร็จได้ดังใจที่หวัง เพราะว่าเป็นเทคนิคที่ต้องใช้เวลา และความอดทนอันยาวนานกว่าจะได้เป็นภาพออกมา แต่ในเมื่อตัวของข้าพเจ้าในตอนนั้นกลับมีแต่ความขี้เกียจเป็นองค์ประกอบใหญ่ในการทำงาน ผลที่ได้ออกมาจึงไม่ เป็นที่น่าแปลกใจว่า ผลงานที่ได้ออกมานั้นเหมือนกับว่ายังทำไม่ถึงขั้น ไม่มีความสมบูรณ์ในตัวของมันเอง คงจะมีเพียงผลงานชิ้นที่หนึ่งเท่านั้นที่ข้าพเจ้าทุ่มเทเวลาให้กับมันมากเป็นพิเศษ ส่วนผลงานที่เหลือขาดคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ สี น้ำหนัก แสงเงา และบรรยากาศ ยิ่งเมื่อได้เปรียบเทียบกับรูปจำลองความคิดที่ใช้กระบวนการถ่ายรูปด้วยแล้ว ซึ่งมีความสมจริงอย่างมาก ยิ่งทำให้เห็นถึงความผิดพลาดและความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด นับได้ว่าเป็นช่วงที่ข้าพเจ้าต้องก้มหัวยอมรับกับผลของการกระทุกสิ่งทุกอย่างอย่างยอมจำนน จึงต้องกลับไปทบทวน และพิจารณาตนเองอีกครั้งว่ามันเกิดอะไรขึ้นทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้

ระยะที่สอง (ภาคการศึกษาปลาย ปีการศึกษา 2543)

ในระยะนี้หลังจากที่ข้าพเจ้าทบทวนกับตัวเองแล้ว มันทำให้ข้าพเจ้าสูญเสียความมั่นใจในการทำงานไป แต่ก็คงยังไม่ยอมแพ้พยายามจะหาอะไรที่เหมาะกับตัวเองจริงๆ ในเมื่อทางนั้นไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงลองอีกทางหนึ่ง ทำให้รูปแบบงานแตกต่างออกไป จากบรรยากาศที่มีความสว่างท่ามกลางความมืดมิด ข้าพเจ้ากลับเปลี่ยนรูปแบบมาหาความหมายของความอบอุ่นของบ้าน ในสภาวะช่วงเวลายามที่มีแสงสว่างแทน คือเปลี่ยนจากดำเป็นขาวเลยก็ว่าได้ นับเป็นช่วงเวลาที่ข้าพเจ้ากำลังคิดหาวิธีแก้ปัญหากับตัวเองในด้านของรูปแบบงาน แต่ในเรื่องของแนวความคิดข้าพเจ้ายังยึดในเรื่องเดิมอยู่ ข้าพเจ้าใช้หลักการของแสงและเงาเป็นตัวนำเสนอแทน ซึ่งช่วงเวลาตอนแรกที่ทำงานชุดนี้ ตรงกับฤดูหนาวพอดี ทำให้ข้าพเจ้ามีความรู้สึกประทับใจกับลำแสงของพระอาทิตย์ ที่ทอแสงให้ความอบอุ่นกับเราได้ แต่ดูเหมือนว่าข้าพเจ้าจะเริ่มกลับมาสู่สภาวะความเป็นจริงมากขึ้น ทำให้ผลงานในช่วงนี้ออกมาดูแล้วขาดจินตนาการไป กลายเป็นงานที่เรียบง่ายดูไม่น่าสนใจเท่าที่ควร แต่ข้าพเจ้ากลับได้อะไรบางอย่างที่สามารถนำมาใช้เป็นลักษณะของสัญลักษณ์ส่วนตัว ว่าสถานที่ สิ่งของ หรือว่าวัตถุใดๆที่ข้าพเจ้าเลือก ที่จะบันทึกมุมมองอกมาว่าสิ่งนั้นๆ มีความเกี่ยวข้อง แล้วตัวข้าพเจ้ารู้สึกประทับใจอะไรกับมันถึงได้เลือมาสร้างสรรค์ผลงาน
ทางด้านเทคนิคในช่วงแรกข้าเจ้ายังคงยึดติดกับเทคนิค Hard Ground ต่อไป เพราะก็ยังคงอยากเอาชนะมันให้ได้ แต่ว่าผลที่ได้ออกมานั้น ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร น้ำหนักที่ออกมายังใช้ไม่ได้ ยิ่งเป็นเรื่องราวของบรรยากาศแสงและเงาด้วยแล้ว ความสมบูรณ์ทางน้ำหนักน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญ ข้าพเจ้าจึงต้องเริ่มยอมรับกับตัวเองอีกครั้ง แล้วเริ่มปรับปรุงตัวเองให้เข้าไปรู้จัก สัมผัส และทดลองกับเทคนิคอื่นๆดูบาง ซึ่งข้าพเจ้าก็เริ่มที่จะใช้เทคนิค Aquatint มาใช้เป็นตัวสร้างน้ำหนักแทนการใช้เทคนิค Hard Ground เพียงอย่างเดียว แต่แล้วเมื่อเริ่มคุ้นเคยกับเทคนิคใหม่ข้าพเจ้าก็ได้พัฒนาความขี้เกียจในการทำงานเข้าไปอีกขั้นหนึ่ง คือ ในตอนแรกที่ทำเทคนิค Aquatint นั้น ข้าพเจ้ายังไล่น้ำหนักโดยการใช้ดินสอไขค่อยๆไล่น้ำหนักอยู่ แต่ในตอนหลังเริ่มปรับเปลี่ยนมาใช้พู่กันลม (Air Brush) แทน ทำให้น้ำหนักที่ออกมาขาดส่วนที่เป็นลายละเอียดของน้ำหนักเงา จึงส่งผลให้เงาที่ออกมาดูแข็งเป็นพิเศษ ทำให้ขาดมิติของความเป็นเงาที่จะต้องมีความหนัก เบา ต่างกันออกไป แต่ในผลงานชุดนี้ข้าพเจ้าก็ทดลองในเรื่องการใช้สีสรรมากขึ้น โดยพยายามจะทำให้สีเข้ากับบรรยากาศที่ต้องการแสดงออก และเริ่มมีการใช้เทคนิค Soft Ground เป็นตัวทำพื้นผิวของวัสดุ ที่เป็นสถานที่ ที่แสงและเงาจะต้องตกกระทบลงไป
แม้ว่าผลงานชิ้นนี้ข้าพเจ้าจะพอใจในระดับหนึ่ง แต่ข้าพเจ้าก็มีความคิดว่าต้องมีอะไรบางอย่างที่รอคอยอยู่ข้างหน้าให้เผชิญกับมันแน่นอน

ระยะที่สาม โครงการเตรียมศิลปะนิพนธ์ (Terminal Project)

เมื่อมาถึงโครงการเตรียมศิลปนิพนธ์ ก็นับว่าเป็นช่วงหัวเหลียวหัวต่อของข้าพเจ้าอย่างมาก เพราะว่ากว่าจะมีแนวงานที่ลงตัวนั้น ข้าพเจ้าต้องพบกับความล้มเหลวอย่างหนักอีกครั้งหนึ่ง คือในตอนแรกผลงานของข้าพเจ้าดูเหมือนว่าจะไม่มีปัญหาอะไร เพราะข้าพเจ้าก็เริ่มทำงานต่อเนื่องจากชุดที่แล้ว ซึ่งยังคงเป็นเรื่องความอบอุ่นของบ้าน และใช้แสงและเงาเป็นตัวนำเสนอเช่นกัน แต่เริ่มขยับจากเรื่องราวของแสงเงาภายในบ้าน มาสู่การใช้แสงเงาของตัวบ้านเองที่ทอดทาบผ่านสถานที่ต่างๆรอบบริเวณบ้านแทน แต่ปัญหามันก็เกิดขึ้นจนได้ เพราะจากชุดที่แล้วข้าพเจ้าเริ่มเข้าหาความเป็นจริงมากกว่าจินตนาการ แล้วยิ่งใช้วิธีการสร้างภาพจำลองของความคิดด้วยวิธีการทางภาพถ่ายด้วยแล้ว มันทำให้ข้าพเจ้ายิ่งยึดติดกับรูปแบบงานที่เหมือนจริงมากขึ้น แต่ว่าผลงานที่ได้ออกมาลับทำได้ไม่ถึงขั้นเท่าที่ควร ประกอบกับความผิดพลาดทางเทคนิคด้วยแล้ว งานในช่วงแรกจึงถึงขั้นวิกฤต ต้องกลับไปทบทวนตัวเองอย่างหนักว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ ตามคำปรึกษาของอาจารย์ ว่า "ต้องสร้างโลกของตนเองขึ้นมา เน้นเรื่องของจินตนาการมากกว่าความจริง ถามตัวเองดูว่าอยากทำอะไรกันแน่"
หลังจากได้ยอมรับสิ่งต่างๆและถามความรู้สึกของตัวเองแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้ย้อนกลับไปสนใจเรื่องบรรยากาศของบ้านที่อบอุ่นท่ามกลางความมืดมิดอีดครั้ง เพราะว่าเมื่อเวลามีปัญหาข้าเจ้ามีความต้องการที่จะกลับบ้านเป็นที่สุด อยากให้อ้อมกอดของบ้านคอยรอต้อนรับ การกลับไปของข้าพเจ้าอย่างเหนื่อยอ่อน แต่ว่าระหว่างนั้นข้าพเจ้ารู้สึกกลับตัวเองว่า ทำไมมันช่างยาวไกลกว่าเดิม ทั้งที่มันก็เป็นระยะทางที่กลับบ้านตามปกติ บรรยากาศรอบข้างก็ค่อยๆมืดมิดลง มืดมิดลง และแล้วข้าพเจ้าก็เริ่มเห็นแสงสว่างที่คุ้นเคยอยู่เบื้องหน้า ค่อยๆย่างเท้าไปหามัน แสงไฟที่หน้ารั้วบ้าน เปิดประตูเข้าไปภายในได้สัมผัสถึงแสงสว่างของตัวบ้าน บรรยากาศที่เป็นพื้นที่ของเราเอง ที่ได้โอบล้อมตัวเราไว้ ที่ๆใจและกายได้พักผ่อนลงชั่วขณะ
และการสร้างสรรค์ศิลปะในช่วงนี้ข้าพเจ้าได้นำสัญลักษณ์มาใช้ คือ การใช้รูปจำลองของม้า มาเป็นสื่อแทนตัวของข้าพเจ้าเอง เพิ่มลายละเอียดเรื่องราวของบรรยากาศให้มากขึ้น ว่าอยู่ในสถานที่อย่างไร แล้วจึงลงมือบันทึกภาพเพื่อใช้เป็นรูปจำลอง สู่กระบวนการทางภาพพิมพ์อีกทีหนึ่ง
ทางด้านเทคนิคข้าพเจ้าได้ใช้เทคนิค Hard Ground เป็นหลักในการทำงานทั้งหมดเช่นเคย จะมีบางชิ้นที่ใช้เทคนิค Aquatint แต่ผลที่ได้ออกมาก็ไม่ดีนัก เพราะความไม่ถนัดในเทคนิคนี้รวมทั้งระยะเวลากระชั้นชิดเกินไป แต่ว่าการสร้างสรรค์ศิลปะในช่วงนี้ ทำให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ทั้งกระบวนการทางด้านความคิดและทางด้านเทคนิคมากขึ้น และรู้ว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป

ระยะที่สี่ โครงการศิลปะนิพนธ์ (Thesis)

และแล้วระยะเวลาแห่งการสร้างสรรค์ศิลปนิพนธ์ก็มาถึง เมื่อหว่านพืชก็ย่อมต้องหวังผล แต่ผลที่ได้จะออกมาเป็นอย่างไรนั้น ก็ย่อมขึ้นอยู่กับการดูแลเอาใจใส่ของเจ้าของ ว่าจะดูแลรักษาเอาใจใส่เพียงใด ระยะเวลาที่ได้ผ่านการเติบโตตั้งแต่เล็กจนใหญ่ ผ่านวัน คืน อุณหภูมิที่แตกต่าง ฤดูกาลอันหลากหลาย อุปสรรคต่างๆนานา จนล่วงสู่กาละแห่งการเก็บเกี่ยวผลนั้น ทีนี้ไม่ว่าผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร ดีหรือไม่ดีเพียงใด ผลทั้งหมดนั้นจะเป็นตัวที่บ่งบอกถึงกระบวนการทั้งหมดที่ผ่านมา และเราก็คงจะต้องยอมรับถึงผลอันนั้น ที่เราได้เพาะปลูกด้วยมือของเราเอง แต่สิ่งที่เราจะได้ควบคู่จากการเพาะปลูกอันนี้ คือ อย่าหวังผลโดยยังไม่หว่านพืชเช่นกัน
การสร้างสรรค์ศิลปนิพนธ์ชุดนี้ ข้าพเจ้าสร้างให้สืบเนื่องจากช่วงที่แล้ว ไม่ว่าจะทางด้านเนื้อหาแนวความคิด รูปแบบ เทคนิคและวิธีการ หลังจากที่ได้พยายามศึกษาและทดลอง ทั้งผิดและถูก ซึ่งได้พยายามแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้ผลงานมีความสัมพันธ์กันทั้งด้านความคิดและรูปแบบการนำเสนอ ข้าพเจ้าได้วิเคราะห์ถึงการสร้างสรรค์ศิลปะในช่วงเวลาที่ผ่านมาทั้งหมด พยายามทำความเข้าใจต่ออารมณ์ความรู้สึกของตนเองที่ต้องการแสดงออก เพื่อให้ตรงกับความต้องการมากที่สุด โดยในชุดนี้ข้าพเจ้าได้ใช้สัญลักษณ์เป็นแกนในการนำเสนอมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แทนตนเอง ใช้แทนบ้าน บรรยากาศและสถานที่ ข้าพเจ้าพยายามศึกษาและเข้าไปปรับเปลี่ยนกับมันมากขึ้น ซึ่งข้าพเจ้าต้องการสร้างสัญลักษณ์เพื่อใช้แสดงความหมายของอีกสิ่งหนึ่ง เพื่อสื่อถึงอารมณ์ ความรู้สึก และสื่อความหมายของตนเองขึ้นมา เป็นการผสานกันระหว่างจินตนาการ และความเป็นจริง ให้อยู่ภายใต้เนื้อหา อารมณ์ความรู้สึก และบรรยากาศสภาพแวดล้อมที่สร้างขึ้นมา
ทางด้านเทคนิคข้าพเจ้ายังคงเลือกที่จะใช้เทคนิค Hard Ground เพียงอย่างเดียวเช่นเคย แต่เริ่มมีความชำนาญและรู้จักกับเทคนิคนี้มากขึ้น สามารถควบคุมน้ำหนักให้ได้ออกมาอย่างที่ต้องการ
และข้าพเจ้าก็ได้จัดผลงานให้ออกมาในรูปแบบที่จัดวางกับสถานที่ด้วย คือ เสนอผลงานภาพพิมพ์ที่เสร็จสมบูรณ์ ร่วมกับการจัดวางในสถานที่ ซึ่งจำลองให้เป็นบรรยากาศเดียวกับผลงานภาพพิมพ์ เหมือนกับว่าให้ผู้ชม ได้เข้ามามีส่วนรับรู้ในผลงาน "ฉันและพื้นที่ของฉัน" ได้ในรูปแบบ 3 มิติได้อีกด้วย
ดังนั้นผลงานในโครงการศิลปะนิพนธ์ ข้าพเจ้าจึงมีความพอใจตัวผลงาน ที่ผ่าฟันจนออกมาได้ในรูปลักษณ์ที่อยากให้เป็น แม้ว่าจะได้เพียงในระดับหนึ่งก็ตาม แต่เมื่อย้อนกลับไปดูผลงานในช่วงระยะที่หนึ่งแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้รู้ว่าต้องผ่านอะไรต่อมิอะไรมาบ้างจนกว่าจะมีวันนี้


+ + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + +

วิเคราะห์การพัฒนาผลงาน
2002 copyright by myARTery